MUJI เลือกงานหัตถกรรมเชียงใหม่ วางขายที่ไอคอนสยาม พ.ย.นี้

CEA ผนึก MUJI ดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ สู่แบรนด์ระดับโลก เผยกลุ่มงานเซรามิก 2 แบรนด์ ได้รับเลือก เตรียมวางขาย MUJI สาขาไอคอนสยาม พฤศจิกายน 2567

วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนายอกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่)

สำหรับกิจกรรมความร่วมมือครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม 2567-มีนาคม 2568 เพื่อผลักดัน Creative Locals หรือผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่น ในกลุ่มงานเซรามิก (Ceramic) และกลุ่มงานผ้าทอจากเส้นใยธรรมชาติ (Fabric) ด้วยการยกระดับและต่อยอดของดีจากท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทั้งยังคงไว้ซึ่งคุณค่าอันเป็นแก่นแท้ทางจิตวิญญาณที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม นำไปสู่การปักธงสินค้าหัตถกรรมไทย ให้เข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เป็นแบรนด์ระดับโลก และสอดคล้องกับกลยุทธ์การผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไปสู่ระดับสากล โดยนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่โดดเด่นเรื่องงานหัตถกรรมพื้นบ้าน มีการส่งต่อภูมิปัญญา องค์ความรู้ และทักษะงานฝีมือ ต่อยอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก MUJI ประเทศไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่น มุ่งไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนตามแนวคิดของแบรนด์ MUJI และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่น สามารถผลักดันผลงานสร้างสรรค์ของประเทศไทยเข้าสู่ตลาดระดับโลกได้

CEA รับบทบาทในการเฟ้นหา และผลักดันยอดฝีมือจากเครือข่ายชุมชนนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มนักสร้างสรรค์งานเซรามิก (Ceramic) จำนวน 8 แบรนด์ มาทำงานร่วมกันผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมเวิร์กช็อป (Workshop) กิจกรรมตลาดนัดมูจิ (Community Market) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)

ซึ่งทำงานร่วมกับทีม Product Design ของ MUJI ณ ร้าน มูจิแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในภาคเหนือและขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ชั้น 1 ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ MUJI ประเทศไทย ได้คัดเลือกแบรนด์หัตถกรรมท้องถิ่น ในกลุ่มงานเซรามิก (Ceramic) จำนวน 2 แบรนด์ ได้แก่ InClay Studio และ Charm-learn Studio ที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ รวมถึงการควบคุมคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสากล ให้ผสานความเรียบง่ายที่เปี่ยมเสน่ห์ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดของแบรนด์ MUJI ซึ่งมีกำหนดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ MUJI ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ MUJI สาขาไอคอนสยาม

นายอกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลงานของ Inclay Studio มีความเรียบง่ายและสมถะคล้ายงานหัตถกรรมญี่ปุ่น หากก็มีรูปทรงและลักษณะเฉพาะตัวที่มีความร่วมสมัยซึ่งตอบโจทย์กับสุนทรียะของผู้คนในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ Cham-learn Studio โดดเด่นที่การหยิบยืมรูปลักษณ์ของข้าวของที่ผู้คนคุ้นเคยมาพัฒนาเป็นงานเซรามิก ซึ่งสร้างความผูกพันกับความทรงจำของผู้คน และจะมีการร่วมงานกับแบรนด์ท้องถิ่นแบรนด์อื่น ๆ ในเชียงใหม่และภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบัน MUJI กำลังอยู่ระหว่างการร่วมกับผู้ผลิตของทั้งสองแบรนด์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคัดเลือกให้มีทิศทางสอดรับไปกับไลน์การผลิตของแบรนด์ เช่นเดียวกับการเฟ้นหาผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมสาขาอื่น ๆ ในประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้ามาวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ทั้งในรูปแบบของสินค้าตามร้านสาขาทั่วประเทศ และสินค้าในโครงการ ‘Found MUJI’ ซึ่งเป็น

ไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ MUJI ร่วมพัฒนากับผู้ผลิตงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงพิจารณาในการพัฒนาสินค้าเหล่านี้เพื่อวางจำหน่ายในร้านสาขาที่ต่างประเทศในอนาคต

สำหรับกิจกรรมความร่วมมือเพื่อส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นผ่านงานหัตถกรรม ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่

(1) กิจกรรมเวิร์กช็อป (Workshop) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ออกแบบคอร์สเรียนสั้น ๆ ด้วยหลักสูตรที่เข้าใจง่าย โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้า MUJI และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลงาน

(2) กิจกรรมตลาดนัดมูจิ (Community Market) พื้นที่ตลาดนัดที่ตอบโจทย์การเป็นคอมมิวนิตี้ หรือศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนเชียงใหม่และจังหวัดโดยรอบ โดยเน้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้สัมผัสกลิ่นอายของภาคเหนือ จึงเปิดโอกาสให้ร้านค้าและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เข้ามาจำหน่ายสินค้าประเภทแฮนด์เมด หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อาหารพื้นเมือง ผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ให้กับลูกค้า MUJI หรือผู้ที่สนใจ

โดยมีการหมุนเวียนร้านค้าเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย และให้ลูกค้า MUJI ได้เลือกชมสินค้าที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น กิจกรรมนี้ช่วยส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ (Brand Value) และประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของผู้ประกอบการ สู่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอีกด้วย

ในส่วนของกิจกรรมสุดท้าย คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยทีมพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ของ MUJI ร่วมตั้งโจทย์และวิธีคิดด้านการออกแบบและพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าคอลเล็กชันพิเศษ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Found MUJI Thailand” มุ่งเน้น ‘การตามหาและค้นหา’ วัตถุดิบท้องถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนมายาวนาน มาถ่ายทอดผ่านเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ ร่วมกันตลอดทั้งปีนี้

เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนความเรียบง่าย ผสานความงามอันละเมียดละไมเข้ากับวิถีชีวิต ธรรมชาติ และชุมชน มีศักยภาพในการเติบโตและผลักดันเข้าสู่ตลาดสากลด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสากล โดยมีผู้ประกอบการในกลุ่มงานเซรามิก จากกลุ่ม Chiangmai Clayative และกลุ่มผู้ประกอบการงานผ้าย้อมสีธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : MUJI เลือกงานหัตถกรรมเชียงใหม่ วางขายที่ไอคอนสยาม พ.ย.นี้

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-07-27T05:06:16Z dg43tfdfdgfd