ยกเครื่องระบบเผชิญภัยพิบัติ

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในบริเวณภาคเหนือตอนบนมาตั้งแต่ก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม โดยระลอกแรกระหว่างวันที่ 16-26 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่บริเวณจังหวัดน่าน-เชียงราย และแพร่ เฉพาะจังหวัดน่านถึงกับมีการอ้างสถิติกันว่า เกิดน้ำท่วมใหญ่สูงถึง 8.72 เมตร ในตัวเมือง ในรอบ 100 ปีกันเลยทีเดียว แต่ยังไม่ทันที่น้ำจะลดลงจนถึงระดับปกติ ถัดมาอีกไม่ถึง 15 วันก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในบริเวณ อ.แม่สาย และบริเวณจังหวัดเชียงรายขึ้นมาอีกครั้ง เฉพาะที่ อ.แม่สายเอง ก็มีการหยิบยกสถิติกันขึ้นมาอีกว่า เป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 80 ปี

มีการประมาณการจากหอการค้าไทยเข้ามาว่า น้ำท่วมใหญ่ระลอกแรกบริเวณ จังหวัดน่าน-เชียงราย-แพร่ ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมและการค้า-บริการในบริเวณตัวเมือง

ในขณะที่น้ำท่วมแม่สาย-เชียงรายระลอกนี้ เบื้องต้นเฉพาะที่ อ.แม่สาย น่าจะมีความเสียหายไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยตัวเลขความเสียหายที่แน่นอนจะมีการประเมินอีกครั้งหลังจากที่น้ำลดลงแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า น้ำท่วมใหญ่ทั้ง 2 ครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีรายงานข่าวเรื่อง พายุไต้ฝุ่นยางิ เข้ามาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนกระทั่งถึงการเคลื่อนที่ผ่านเกาะไหหลำ และขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม และความเสียหายเป็นรายทางที่พายุพัดผ่าน ก่อนที่จะมากลายเป็นพายุดีเปรสชั่นในบริเวณ สปป.ลาวตอนบน แต่การเตรียมการรับมือฝนตกน้ำท่วมจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นยางิในไทยแทบจะไม่มีเลย เป็นแต่รอให้เกิดฝนตก-น้ำท่วม-ดินถล่มในพื้นที่เสียก่อน เมื่อเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ความช่วยเหลือจากภาครัฐถึงจะตามเข้ามา แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้ามาก

กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ทุกครั้งที่มีพายุหรืออิทธิพลจากพายุเคลื่อนที่เข้ามา การดำเนินการในพื้นที่มักจะเดินตามหลังพายุเสมอ ๆ กล่าวคือปราศจากการเตรียมการรับมือที่ดีพอ จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีตัวอย่างที่ดีสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเข้ามาว่า ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดฝนตกหนัก-น้ำไหลหลาก เป็นอย่างนี้ทุก ๆ ปีที่ประเทศเข้าสู่ฤดูฝน

จึงควรที่รัฐบาลจะต้องใช้บทเรียนราคาแพงในครั้งนี้ ทำการ “ยกเครื่อง” การปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ระบบสื่อสารเตือนภัย แผนการเตรียมการรับมือพายุ แผนการช่วยเหลือฉุกเฉินผู้ประสบภัย การบูรณะซ่อมแซมหลังน้ำลด โดยให้อำนาจการปฏิบัติการในพื้นที่ ดีกว่าจะมารอคำสั่งจากส่วนกลางที่มักจะรวมศูนย์กันอยู่ที่ “วอร์รูม” ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติเสมอ ๆ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ยกเครื่องระบบเผชิญภัยพิบัติ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-16T02:09:50Z dg43tfdfdgfd