NSM ดึง 47 หน่วยงานเครือข่าย ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ระดับชาติครั้งแรกของไทย

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีประกาศเจตจำนงค์เครือข่ายพลังสื่อสารวิทยาศาสตร์ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย ในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” โดยมี นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. พร้อมด้วย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM และผู้บริหารหน่วยงานเครือข่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เข้าร่วม เพื่อผนึกกำลังขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ของไทยให้เติบโตแข็งแกร่งและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญที่สร้างรากฐานในการพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมไปสู่ระดับโลกในอนาคต ณ ห้องประชุม 208 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

นายเพิ่มสุข กล่าวว่า “การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ของการวิจัยและสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในอนาคต การรวมพลังของเครือข่ายพลังสื่อสารวิทยาศาสตร์และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศและสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ การรวมพลังครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นเครือข่าย ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของสังคมไทยต่อไป”

“โดยโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรในแต่ละพื้นที่เพื่อให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อปลูกฝังให้เกิดความสนใจและความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น”ปลัด อว. กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.รวิน เผยว่า “NSM ดำเนินการจัดโครงการ Empowering Science Communication and Science Museums เครือข่ายพลังสื่อสารวิทยาศาสตร์ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประเทศไทย ขึ้นเพื่อร่วมประกาศเจตจำนงค์ความร่วมมือในการรวมพลังเป็นเครือข่ายในการร่วมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนกว่า 47 หน่วยงาน ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ คือ สร้างความรู้และทักษะให้กับบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิด และความคิดสร้างสรรค์ให้กับบุคลากรในประเทศ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ ในประเด็นของกรณีศึกษา แนวทางการดำเนินงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางความร่วมมือในอนาคตในการส่งเสริมความเข้มแข็งของแต่ละเครือข่ายต่อไป”

นอกจากนี้ ในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” ยังจัดกิจกรรมการเสวนาพิเศษแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ ในประเด็นของกรณีศึกษา แนวทางการดำเนินงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธรรมชาติ กับ Special Report “เหลียวมองทิศทางการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น” โดย ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ NSM และการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางและโอกาสของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย” โดยมี ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), ดร.สุขุม เรืองไชย ผู้ช่วยคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นางสาวจิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง) Content creator/ Influencer Channel SPIN9 และวิทยากรจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการเสวนา

ทั้งนี้ กิจกรรมในวันที่ 28 ก.ค. พบกับการเสวนาในหัวข้อ “แหล่งเรียนรู้สู่แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม” โดย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย, ผศ.ดร.ไชยพงษ์  เรืองสุวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการ NSM, ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา, รศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมและรับของที่ระลึก limited edition ภายในงาน พร้อมลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/C4Hm18NFi8bf5wNE8

2024-07-27T07:21:24Z dg43tfdfdgfd