รบ.ปรับเพิ่มเยียวยาน้ำท่วมขั้นต้น บ้านละ 9 พัน หอค้าฯชง 6 ข้อ แก้ท่วม-แล้งระยะยาว

รบ.ปรับเพิ่มเยียวยาน้ำท่วมขั้นต้น บ้านละ 9 พันบ.หอค้าฯ ชง 6 ข้อ แก้ ‘ท่วม-แล้ง’ ระยะยาว

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยถึงการพิจารณาเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ว่า วันนี้น่าจะรู้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ตุลาคม ส่วนข้อกังวลของประชาชนว่าเมื่อได้รับเงินเยียวยารอบแรกไปแล้ว หากเกิดท่วมซ้ำจะได้รับเยียวยารอบ 2 หรือไม่ ตรงนี้ต้องดูข้อเท็จจริงจากการสำรวจเบื้องต้น ส่วนจะเยียวยาเพิ่มหรือไม่ ต้องดูความต่อเนื่อง หรือมีรายละเอียดพิเศษ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี พื้นที่จะเสนอมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากท่วมซ้ำ 2 ตามระเบียบการจ่ายเงินเยียวยามีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด และเยียวยาไปตามคิว จากเดิมให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท เวลานี้จ่ายเยียวยาขั้นต้นที่ครัวเรือน 9,000 บาททั้งหมด หากพิจารณารายละเอียดแล้วสมควรเพิ่มก็จะเพิ่มให้ ส่วนการจ่ายเยียวยารอบ 2 จะพิจารณา และจะเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกฯ และโฆษก ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า มีกระแสข่าวว่าน้ำจากตอนบนไหลเข้าเขื่อนภูมิพลจำนวนมาก เกรงว่าจะไม่เพียงพอจนต้องระบายน้ำออกจำนวนมากนั้น ที่ประชุม ศปช.ส่วนกลางติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันตรงกันว่า ถึงวันที่ 30 กันยายน ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก มีศักยภาพเพียงพอรับน้ำได้อีกมาก การปล่อยน้ำของเขื่อนจะไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อน

“เขื่อนภูมิพลรับน้ำจากแม่น้ำปิงนั้น รองรับได้น้ำสูงถึง 13,462 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 8,247 ล้าน ลบ.ม.หรือ 61% ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 5,215 ล้าน ลบ.ม.จากการสรุปผลประชุมมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนวันละ 134 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่การระบายน้ำอยู่ที่ 1 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ถือว่าปกติ ศปช.ยืนยันได้ว่าการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีข้อสรุปว่าปลายสัปดาห์หน้า พื้นที่ภาคเหนือจะเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว น้ำฝนจะลดปริมาณลง” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุกล่าวอีกว่า วันเดียวกัน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ได้ประชุมส่วนราชการส่วนหน้าที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตามนโยบายนายกฯ รวมทั้ง ติดตามการทำงานของ ศปช.ส่วนหน้า ได้รับรายงานว่าการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ฟื้นฟูระบบจ่ายไฟให้กลับมาใช้งานได้ทั้งหมดแล้ว เช่นเดียวกับระบบน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ทั้งนี้ กฟภ.เชียงรายกำลังเร่งต่อไฟจากระบบสายเมนตามถนนเข้าบ้านเรือนประชาชน ประชาชนได้ร้องขอให้ ศปช.เร่งจัดการขยะ และระบายน้ำขังน้ำเน่าเสีย มีปริมาณขยะตกค้างในพื้นที่จำนวนมาก เนื่องจากบ่อขยะถูกน้ำท่วม ได้แก้ปัญหาด้วยการจัดจุดพักขยะชั่วคราว ขณะนี้ ศปช.โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ กห.ในฐานะประธานศูนย์รับทราบปัญหาแล้ว ได้สั่งให้ น.ส.ธีรรัตน์เร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ดินโคลนที่ไหลมากับน้ำเข้าท่วม อ.แม่สาย การเกิดขึ้นของน้ำ และมวลโคลนไหลลงมาสู่ อ.แม่สาย ต้นกำเนิดอยู่ที่ทั้งฝั่งพม่า และฝั่งไทย ทั้งลุ่มน้ำที่รวมน้ำไหลออกภูเขา ทางธรณีวิทยาเรียกว่าเป็นกระบวนการผุพัง และการย้ายมวลในพื้นที่ดังกล่าว มีร่องที่เรียกว่าร่องน้ำที่เต็มไปด้วยเศษหิน ดิน และโคลนอยู่แล้ว ร่องดังกล่าวสะสมความเกรอะกรังแล้วล้างท่อเป็นระลอก เป็นวิถีปกติทางธรณีวิทยา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากดินทยอยสะสมอยู่ในร่องมานาน ถูกล้างท่อไหลออกมาภายในเวลาไม่นาน

เมื่อถามว่า เกี่ยวข้องกับการมีป่า หรือไม่มีป่าหรือไม่ ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ต้นเหตุร่องโคลนมีอยู่แล้ว รอวันเมื่อไหร่ที่มีฝนหนักมาชะให้โคลนไหลลงมา อย่างไรก็ตาม การไม่มีป่าช่วยทำให้มีปริมาณดินลงมาอยู่ในร่องมากขึ้นในเวลาสั้นลง แต่กุญแจดอกสุดท้ายคือน้ำ ลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่บริเวณทางออกน้ำ นี่คือสิ่งสำคัญ อีกประการคือ การมีป่าจะช่วยชะลอการไหลของน้ำ และดินให้ช้าลง ซึ่งผลกระทบต้องมี แต่จะเสียหายน้อยกว่านี้

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นถี่ และขยายวงกว้างมากขึ้น สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตภาคการเกษตร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณบรรเทาความเสียหาย และเยียวยาประชาชนในส่วนนี้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท หอการค้าฯ จึงเห็นว่าไทยควรทบทวน และวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ

“โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ รวมถึง ข้อเสนอเชิงสนับสนุนใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ศึกษาปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค 2.จัดกิจกรรมส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำ 3.จัดตั้งวอร์รูมของรัฐบาลสื่อสารข้อมูลสถานการณ์น้ำ 4.สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 5.การบูรณาการระหว่างภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6.ทบทวน และจัดลำดับสำคัญโครงการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว” นายวิชัยกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รบ.ปรับเพิ่มเยียวยาน้ำท่วมขั้นต้น บ้านละ 9 พัน หอค้าฯชง 6 ข้อ แก้ท่วม-แล้งระยะยาว

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-10-01T00:00:13Z dg43tfdfdgfd