7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567 วันสุดท้าย ยอดรวมเสียชีวิต 287 ราย ตายเป็นศูนย์ 7 จว.

วันที่ 18 เม.ย. 2567 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 224 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 45.98 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 12.50

7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567 วันที่หกยอดรวมเสียชีวิต 243 ราย เจ็บเกือบ 2 พัน

“7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567” วันที่ห้า ยอดรวมเสียชีวิตทะลุ 206 ราย!

ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.46 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 17.01 – 18.00 น. ร้อยละ 8.04 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 17.06 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,371 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ 11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด

ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (80 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (17 ราย)

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าว กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย

ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนดำเนินการรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้นำมากำหนดเป็นแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในระยะยาวต่อไป

2024-04-18T05:24:42Z dg43tfdfdgfd