คลองสานตรึงแนวแผงลอยท่าดินแดง นับหนึ่งจัดระเบียบเข้ม สำรวจที่ดินรกร้างแอบลักลอบทิ้งขยะ

คลองสานตรึงแนวแผงลอยท่าดินแดง นับหนึ่งจัดระเบียบเข้ม สำรวจที่ดินรกร้างแอบลักลอบทิ้งขยะ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 กันยายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ในพื้นที่เขตคลองสาน โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสาน สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

นายจักกพันธุ์ ได้ตรวจการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าทั้งหมด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2567 สำรวจตัวตนของผู้ค้าบริเวณถนนท่าดินแดงทั้ง 2 ฝั่ง ที่ทำการค้าอยู่จริงให้ตรงกับบัญชีรายชื่อผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางเขตฯ ปรับเปลี่ยนร่มหรือเต็นท์ให้เป็นรูปแบบหรือลักษณะเดียวกันทั้งหมด กำหนดความกว้างในการตั้งวางแผงค้าของแต่ละร้าน ขีดสีตีเส้นแบ่งขอบเขตให้ชัดเจน กวดขันร้านค้าที่จำหน่ายอาหารไม่ให้ตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้บนทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน หากผู้ค้าไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าที่กำหนดไว้ได้ ให้เขตฯ พิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าวต่อไป

ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 454 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 3.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-24.00 น.

4.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1-5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 5.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก บริเวณหน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 8.ถนนเจริญรัถ ฝั่งขาออก จากหัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. และถนนเจริญรัถ ฝั่งขาเข้า จากหัวถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น.

ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567) นอกจากนี้ เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทำการค้า โดยเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมทำความเข้าใจ กำหนดยกเลิกเดือนธันวาคม 2567

ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 153 ราย ดังนี้ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 15 ราย 3.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย 4.บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย 5.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย

6.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 7.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18-46 ผู้ค้า 29 ราย 8.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย 9.บริเวณถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่งตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย 10.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย

ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 4 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย 2.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 3.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย 4.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย (ยกเลิกเมื่อเดือนมีนาคม 2567) นอกจากนี้ เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย กำหนดยกเลิกเดือนธันวาคม 2567

พร้อมกันนี้ นายจักกพันธุ์ได้สอบถามถึงพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ โดยมอบหมายให้เขตฯ สำรวจในพื้นที่ว่าเขตฯ มีจุดที่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งจำนวนกี่จุด สำหรับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารทิ้งร้าง และที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย เศษวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสำนักเทศกิจได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และ 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

ต่อมา นายจักกพันธุ์ได้เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเทนซิกซ์ ฮันเดรด เจ้าพระยา แบงคอก บายพรีเฟอเรนซ์ ซอยเจริญนคร 39 ถนนเจริญนคร เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารจากการรับประทานอาหาร คัดแยกเศษผักเศษผลไม้มาทำปุ๋ยหมักไว้ใส่ต้นไม้ในโรงแรม เขตฯ จัดเก็บเศษอาหารทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล มีห้องแยกทิ้งขยะรีไซเคิล โดยคัดแยกขวดพลาสติก กระดาษ และกล่อง รวบรวมส่งรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ มีผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลบางส่วน 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้ จะนำไปทิ้งที่ห้องเก็บขยะ เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงแรมที่ดูแลรับผิดชอบในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่

จากนั้น นายจักกพันธุ์ได้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารเรียน ความสูง 7 ชั้น ขณะนี้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างพื้นฐานรากชั้น 1-6 แล้วเสร็จ ก่อสร้างผนังอาคารและผนังห้องชั้น 2-4 อยู่ระหว่างขึ้นโครงสร้างชั้น 6-7 ทั้งนี้ รวมถึงได้สอบถามผู้รับจ้างถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้าง ซึ่งการทำงานไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างใด มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ โครงการในภาพรวมแล้วเสร็จกว่า 55% สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามงวดในปีงบประมาณที่กำหนด ผู้รับจ้างยืนยันว่าโครงการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 สามารถเปิดใช้อาคารเรียนหลังใหม่ได้ในปีการศึกษา 2568

   

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : คลองสานตรึงแนวแผงลอยท่าดินแดง นับหนึ่งจัดระเบียบเข้ม สำรวจที่ดินรกร้างแอบลักลอบทิ้งขยะ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-09-18T10:09:46Z dg43tfdfdgfd