ความเสี่ยงที่อิสราเอลต้องเจอ หากเดินหน้าตอบโต้อิหร่านเต็มกำลัง

หลังอิหร่านส่งโดรนและขีปนาวุธหลายร้อยลูกเข้าโจมตีอิสราเอลโดยตรงเป้นครั้งแรก รัฐยิวได้ให้คำมั่นว่าจะตอบโต้อิหร่านโดยแม้ไม่ได้บอกว่าจะโจมตีอย่างไรหรือเมื่อใด แต่ยืนยันว่าจะควบคุมขอบเขตไม่ให้เป็นการขยายไปสู่สงครามความขัดแย้งโดยตรง และไม่สนคำขู่ของอิหร่านที่ว่า จะลงมือรุนแรงขึ้นหากอิสราเอลตอบโต้

นานาประเทศทั่วโลกต่างเรียกร้องให้อิสราเอลชั่งใจและประเมินภัยคุกคามจากการต้องต่อสู้ในหลายแนวรบ เพราะเดิมทีต้องรบกับฮามาสในกาซาและฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนอยู่แล้ว

ผู้นำยูเครนเผย ปกป้องโรงไฟฟ้าสำคัญไม่ได้ ขีปนาวุธเกลี้ยงคลังแสงแล้ว

อิสราเอลสังหารผู้บัญชาการฮิซบอลเลาะห์เพิ่ม 1 ราย

อิสราเอลเมินสหรัฐฯ ประกาศ เตรียมโต้กลับอิหร่านแน่นอน!

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยืนยันแล้วว่า จะไม่เข้าร่วมในปฏิบัติเชิงรุกใด ๆ ต่ออิหร่าน และประธานาธิบดี โจ ไบเดน บอกกับนายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู ว่า “เราต้องคิดอย่างรอบคอบและมีกลยุทธ์” เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ

หากอิสราเอลโจมตีดินแดนอิหร่านโดยตรง คาดว่าจะนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรง และในขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงหลายอย่างที่อิสราเอลควรพิจารณา

อิสราเอลอาจเสียไมตรีจิตจากเพื่อนบ้านและพันธมิตร

การถูกอิหร่านโจมตีทำให้อิสราเอลได้รับการสนับสนุนและความเห็นอกเห็นใจจากนานาประเทศไม่น้อย หลังก่อนหน้านี้เสียคะแนนและภาพลักษณ์ไปพอสมควรจากการโจมตีฉนวนกาซาที่คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วเกือบ 34,000 ราย และก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม

พันธมิตรอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ช่วยให้อิสราเอลปกป้องตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองทัพอิสราเอลกล่าวว่า 99% ของอาวุธอิหร่านถูกสกัดกั้นไว้ได้

นอกจากนี้ยังมีจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ และแม้จะขัดแย้งกับอิสราเอลเรื่องสงครามในฉนวนกาซา แต่ได้ร่วมสกัดการโจมตีของอิหร่านด้วย เพราะถือว่าเป็นการรุกล้ำน่านฟ้า จึงต้องโจมตีเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ

เช่นเดียวกับมหาอำนาจระดับภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล แต่ขีปนาวุธของอิหร่านจำนวนมากบินผ่านน่านฟ้า จึงช่วยโจมตีสกัด

ไมตรีจิตเหล่านี้จากพันธมิตรและประเทศข้างเคียงถือว่าสำคัญมากสำหรับอิสราเอล นั่นทำให้ โยเอล กูซันสกี นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเพื่อการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า หากอิสราเอลจู่โจมอิหร่านอย่างรุนแรงโดยตรง อาจเสียความสัมพันธ์เหล่านี้ไป

“อิสราเอลสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้และซื้อเครดิตให้ตัวเองได้จำนวนมากในตอนนี้ หากไม่มีการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ แต่ถ้าโจมตีอิหร่าน พวกเขาจะสูญเสียเครดิตจำนวนมาก” กูซันสกีกล่าว

อย่างไรก็ตาม แดเนียล ไบแมน นักวิจัยอาวุโสของ ศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา บอกว่า การสนับสนุนของรัฐอาหรับในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะช่วยเหลืออิสราเอลในการตอบโต้อิหร่าน

เขาบอกว่า ถ้าอิสราเอลจะโจมตีอิหร่านทางอากาศหรือใช้ขีปนาวุธใด ๆ ก็ตาม จะโค้งบินเหนือน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน หมายความว่า อิสราเอลต้องได้รับอนุญาตจากเพื่อนบ้านอาหรับเหล่านั้นเสียก่อน

“สำหรับซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน มีคำถามเกี่ยวกับเส้นทางและการเข้าถึงเป้าหมาย ... จากมุมมองของอิหร่าน (หากซาอุดีอาระเบียและจอร์แดนอนุญาต) จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตร และถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้จะไม่ชอบอิหร่าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้กระตือรือร้นมากนักที่จะเห็นอิสราเอลทำแบบนั้น” ไบแมนกล่าว

การโจมตีครั้งใหญ่บนดินแดนอิหร่านยังอาจบ่อนทำลายการสนับสนุนสงครามของสหรัฐฯ ได้ด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 คนกล่าวว่าอิสราเอลยังไม่ได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบว่าตั้งใจจะตอบโต้อิหร่านอย่างไร แต่อิสราเอลส่งสัญญาณว่า ทุกสิ่งที่พวกเขาทำจะได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคที่ตึงเครียดอยู่แล้วแย่ลง นั่นอาจหมายถึงแนวทางที่มี่รุนแรงนัก เช่น โจมตีกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนแทน หรือใช้การโจมตีทางไซเบอร์

ทามาร์ เฮอร์มันน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งที่สถาบันประชาธิปไตยอิสราเอล กล่าวว่า ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่สนับสนุนการตอบสนองทางทหารบางประเภท ตราบใดที่มีการประสานงานกับพันธมิตรในภูมิภาค รวมถึงสหรัฐฯ

“หากดำเนินการโดยไม่มีการปรึกษาหารือและไม่มีข้อตกลงกับพันธมิตร … การสนับสนุนก็จะน้อยลงมาก” เฮอร์มานน์กล่าว

อาจทำให้เกิดสงครามระดับภูมิภาค

นี่เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลที่สุด นั่นคือ การโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ต่อดินแดนอิหร่านมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ ดังนั้น การตอบโต้ใด ๆ ก็ตามจะต้องได้รับการคิดคำนวณอย่างรอบคอบ

การโจมตีโดยตรงบนดินอิหร่านเกือบมีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนยกระดับการโจมตีเพิ่มเติม โดยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและมีคลังแสงที่ทรงพลังมากกว่ากลุ่มฮามาสมาก ซึ่งที่ผ่านมาเพียงยิงโจมตีเป้นครั้งคราวเพื่อแสดงการสนัสนุนฮามาสเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าร่วมในสงครามเต็มรูปแบบ

จากการโจมตีของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ก่อนหน้านี้ พลเมืองประมาณ 60,000 คนทางตอนเหนือของอิสราเอลถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเรือนของตน และหากการสู้รบหนักขึ้นอาจส่งผลต่อพลเรือนรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

ความขัดแย้งโดยตรงกับอิหร่านยังจะทำให้กองทัพอิสราเอลต้องทุ่มสรรพกำลังมากขึ้น ลดความสนใจฝั่งฉนวนกาซา ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้ฮามาส รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลที่เดิมทีเหนื่อยล้าจากสงครามกับฮามาสอยู่แล้ว

ขีดความสามารถทางทหารเหนือกว่า แต่อาจไม่คุ้ม?

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กองทัพของอิสราเอลมีความเหนือกว่ากองทัพอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างมาก มีอาวุธไฮเทคมากมาย รวมถึงเครื่องบินรบ F35 ที่สามารถยิงอาวุธระยะไกลได้ ทำให้สามารถโจมตีอิหร่านหรือกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนได้อย่างไม่เหลือบ่ากว่าแรง

ฟาเบียน ฮินซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและนักวิจัยที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์กล่าวว่า กองทัพอากาศอิหร่าน “เทียบไม่ได้เลย”

เขากล่าวว่า กองกำลังอิหร่านประกอบด้วยเครื่องบินหลายลำจากช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยบางลำมีอายุย้อนไปถึงสมัยของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งปกครองประเทศจนถึงปี 1979

อย่างไรก็ดี ฮินซ์เสริมว่า ขอบเขตของระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ฐานขีปนาวุธและฐานตั้งนิวเคลียร์ของอิหร่านหลายแห่งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ทำให้ยากต่อการถูกโจมตี

หรือก็คือ หากอิสราเอลโจมตีอิหร่านโดยตรงอาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเป้าหมายที่โจมตีอาจไม่มีความสำคัญ หรือถูกโจมตีไปก็ไม่มีผลต่ออิหร่าน และยังต้องเสี่ยงกับความเสี่ยงในสองหัวข้อที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ด้วย

เรียบเรียงจาก Associated Press

2024-04-17T05:38:51Z dg43tfdfdgfd