ตรีชฎา เผยกว่า 93% เห็นด้วย สธ. ออกจาก “ก.พ.” คนทำงานเปิด 5 ข้อเสนอแนะ หวังเพิ่มความชัดเจน

โฆษก สธ.เผยกว่า 93% เห็นด้วยกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุขฯ คนทำงานเปิด 5 ข้อเสนอแนะ หวังเพิ่มความชัดเจน

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ตามที่ สธ.เตรียมการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … เพื่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยแยกออกจากการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ถึง วันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยหลังจากที่เปิดระบบมา 1 สัปดาห์ ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 9.00 น. มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้ว จำนวน 41,279 คน ในจำนวนนี้ เห็นด้วย 38,675 คน คิดเป็นร้อยละ 93.7 และมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย 2,158 คน คิดเป็นร้อยละ 6.2 ทั้งนี้ คาดว่าจนกว่าจะปิดระบบในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากกว่า 100,000 คน

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า สำหรับความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มี คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (กสธ.) ทำหน้าที่เกี่ยวกับข้าราชการและบุคลากรอื่นในสังกัด สธ. มีรายละเอียด ดังนี้่ 1.คณะกรรมการข้าราชการ สธ. ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็น ประธาน, ปลัด สธ.เป็น รองประธาน, กรรมการ ได้แก่ อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด สธ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน และกรรมการสายวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน และ 2.อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โอนย้ายข้าราชการ, กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, ออกกฏกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ มติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการ สธ., เสนอแนะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการหรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ, กำหนดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจ ความก้าวหน้าแก่ข้าราชการ เป็นต้น

โฆษก สธ.ฝ่ายการเมือง กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.law.go.th/listeningDetail? ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังปิดรับฟังความเห็นแล้ว ทาง สธ. ก็จะต้องรวบรวมข้อมูล ทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อเห็นชอบในหลักการต่อไป

“ตัวเลขของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องของการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ทั้งเรื่องอัตรากำลัง ความมีเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสม ไปจนถึงเพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคภัย ฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสธ.” น.ส.ตรีชฎา กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect กล่าวว่า ตามที่ สธ. เปิดรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ ตนยังไม่ได้เข้าไปแสดงความคิด เพราะกำลังศึกษาตัวกฎหมายอย่างละเอียด แต่เบื้องต้นที่อ่านคร่าวๆ ก็มีความเห็นว่า เป็นเรื่องดีที่ สธ. จะได้ออกมาดูแลกันเองโดยไม่มีกรอบของ ก.พ. มาจำกัดแบบเดิมๆ

“เพราะที่ผ่านมา เวลาที่ทางกลุ่ม Nurses Connect หรือทางสหภาพแพทย์เข้าไปหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) ในเรื่องการขยายอัตรากำลัง ก็มักจะได้รับข้อมูลว่า ไม่สามารถเพิ่มกรอบอัตราได้ เพราะมีความเพียงพอแล้ว แต่เราทุกคนต่างรู้ว่าไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าเราได้แยกออกมาอยู่เอง กรอบอัตราก็จะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างที่วิชาชีพครู ก็ได้ออกจาก ก.พ. แล้วก็มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาดูแลกันเอง ดังนั้น ก็อยากจะฝากเป็นการบ้านให้กับผู้บริหาร สธ. ได้เข้าไปหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อดูว่าจะมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมใน (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ หรือไม่” น.ส.สุวิมล กล่าว

น.ส.สุวิมล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนมีความกังวลต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ ที่คิดว่าจะต้องเขียนเข้าไปในข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มีหลักๆ คือ 1.การคัดเลือกตัวแทนในแต่ละวิชาชีพ จะมีสัดส่วนและการคัดสรรอย่างไร 2.(ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ ดังกล่าว จะดูแลครอบคลุมไปถึงคนทำงานทุกคนในโรงพยาบาล (รพ.) หรือไม่ เพราะนอกจากจะมีแพทย์ เภสัช พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ที่เป็นข้าราชการแล้ว ยังมีผู้ที่ถูกจ้างด้วยเงินบำรุงของ รพ. ทั้งที่เป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ไปจนถึงการจ้างเหมาจากภายนอก เช่น แม่บ้าน ผู้ช่วยพยาบาล เวรเปล เป็นต้น จึงอยากรู้ว่ากลุ่มนี้จะได้อยู่ในการดูแลด้วยหรือไม่ 3.เรื่องค่าตอบแทน เพราะมีการระบุว่าจะมีการกำหนดค่าตอบแทนเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากที่ออกมาหรือไม่ 4.เรื่องค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ที่ปัจจุบันเป็นการใช้จากเงินบำรุง รพ. อยู่ ไม่ได้ใช้จากงบประมาณกลาง จึงสงสัยว่าจะเกิดปัญหาด้านการเงิน การจ่ายเงินให้กับลูกจ้างหรือไม่ และ 5.เป็นเรื่องของมาตรฐานการทำงาน ที่แม้จะมีการเขียนเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุขฯ ออกมา แต่คิดว่ายังไม่ครอบคลุมถึงการระบุมาตรฐานการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับภาระงาน ชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้จะถูกประกาศออกมาหลังมี พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว ในรูปแบบของประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ตนมองว่า จริงๆ เรื่องนี้ควรมีกฎหมายระบุชัดเจน อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ระบุชัดเจนว่าต้องทำงานไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ตรีชฎา เผยกว่า 93% เห็นด้วย สธ. ออกจาก “ก.พ.” คนทำงานเปิด 5 ข้อเสนอแนะ หวังเพิ่มความชัดเจน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-07-27T05:04:47Z dg43tfdfdgfd