รัสเซีย ยิงขีปนาวุธโจมตีหอส่งสัญญาณโทรทัศน์

สิ่งที่คาดว่ายูเครนจะได้รับจากสหรัฐฯ ในแพ็กเกจความช่วยเหลือที่จะส่งไปในระลอกแรกคือ กระสุนปืนใหญ่ อาวุธป้องกันภัยทางอากาศ รวมถึงขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยไกล ซึ่งยูเครนร้องขอมาเป็นเวลานานเพื่อให้สามารถชะลอการรุกคืบของกองทัพรัสเซียและปกป้องน่านฟ้าจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซียได้

หลายฝ่ายประเมินว่ายังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามร่างฉบับดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมาย ก่อนที่อาวุธยุทโธปกรณ์จะถูกจัดส่งไปถึงยูเครน ล่าสุดรัสเซีย เดินหน้าโจมตีทางอากาศบนแผ่นดินยูเครนอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐฯผ่านงบช่วยยูเครน หลังติดขัดหลายเดือน

งบ 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ ช่วยยูเครนได้อย่างไรบ้าง?

การโจมตีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 22 เม.ย. เวลาประมาณ 16.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น พื้นที่ที่ตกเป็นเป้าคือ คาร์คีฟ เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ สำนักอัยการสูงสุดของยูเครนระบุว่า รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธร่อนรุ่น Kh-59 เข้ามาโจมตียังหอส่งสัญญาณโทรทัศน์ของเมือง จนครึ่งหนึ่งของเสาถล่มลงมา

 เศษซากของหอส่วนที่พังลงมาตกลงบริเวณป่าใกล้เคียง ขณะที่อาคารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงก็ได้รับความเสียหายจากเศษซากของเสา โอเลฮ์ ซูเนฮูบอฟ ผู้ว่าการแคว้นคาร์คีฟระบุว่า ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ เนื่องจากได้รับสัญญาณเตือนภัยให้หลบอยู่ในหลุมหลบภัย

 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานการสื่อสารพิเศษแห่งรัฐระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้สัญญาณโทรทัศน์ไม่สามารถใช้การได้ชั่วคราวในบางพื้นที่ของแคว้นคาร์คีฟ และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการซ่อมแซม นอกเหนือจากหอสัญญาณโทรทัศน์ของเมืองคาร์คีฟ ผู้ว่าการแคว้นคาร์คีฟยังระบุว่า รัสเซียยังโจมตีเมืองและหมู่บ้านอื่นๆ ที่แคว้นคาร์คีฟรวม 3 แห่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา แคว้นคาร์คีฟซึ่งอยู่ห่างไปจากพรมแดนรัสเซียประมาณ 30 กิโลเมตร คือพื้นที่ที่รัสเซียยกระดับการโจมตีทางอากาศใส่ด้วยระเบิด ขีปนาวุธ และโดรนหลากชนิดอย่างหนักหน่วงหลายระลอก ขณะที่ยูเครนเผชิญปัญหาขาดแคลนอาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้ในการยิงสกัดขีปนาวุธและโดรนที่รัสเซียส่งเข้ามา จนขีดความสามารถในการสกัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

การที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณความช่วยเหลือทางการทหารยูเครนออกมาจากสภาได้หลังติดขัดมาเป็นเวลาหลายเดือน จะช่วยให้ยูเครนได้รับอาวุธที่ต้องใช้เพื่อปกป้องน่านฟ้าและพยุงสถานการณ์การสู้รบที่แนวหน้าไว้ได้

หลังจากที่ร่างงบประมาณความช่วยเหลือยูเครนผ่านออกมาจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คณะตัวแทนสส.จากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเมื่อวานนี้จุดประสงค์คือ เพื่อยืนยันจุดยืนสนับสนุนยูเครนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อีกครั้งและเพื่อพบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน 

ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ทอม คีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกันระบุว่า เขาคาดหวังว่าวุฒิสภาจะเร่งผ่านร่างงบประมาณความช่วยเหลือทางการทหารยูเครน และส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามและตราเป็นกฎหมายเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ พร้อมหวังว่าประธานาธิบดีไบเดนจะเร่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ยูเครนร้องขอ โดยเฉพาะขีปนาวุธพิสัยไกล

วุฒิสภาสหรัฐฯ จะเปิดวาระประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณสนับสนุนยูเครนที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร และลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในวันนี้ช่วงบ่ายตามเวลาสหรัฐฯ

 ส่วนการลงมติขั้นสุดท้าย หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้า ก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนาม และผ่านออกมาเป็นกฎหมาย มีการประเมินว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์หรือ ก่อนที่ยูเครนจะได้รับอาวุธต่างๆ

นอกเหนือจากกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตรที่ยูเครนจำเป็นต้องใช้เพื่อยิงตอบโต้และรักษาตำแหน่งที่มั่นในแนวรบและอาวุธป้องกันภัยทางอากาศ อาวุธชนิดหนึ่งที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ จะจัดสรรให้แก่ยูเครนในแพ็กเกจความช่วยเหลือระลอกแรกและเป็นที่สนใจอย่างมากคือ ขีปนาวุพิสัยไกลแอตแท็คเอ็มส์

ล่าสุดในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันช่วงค่ำเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้ออกมายืนยันแล้วหลังจากโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีไบเดน  โดยระบุว่ารัฐบาลยูเครนและรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถสรุปข้อตกลงการส่งขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบกหรือแอตแท็คเอ็มส์ (ATACMS) ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลศักยภาพสูงในขั้นสุดท้ายได้แล้ว

ขีปนาวุธแอตแท็คเอ็มส์ คือ อะไร และทำไมรัฐบาลยูเครนจึงร้องขอขีปนาวุธชนิดนี้มาอย่างยาวนาน ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบกหรือแอคแท็คเอ็มส์  (ATACMS) เป็นขีปนาวุธพิสัยไกล มีพิสัยทำการได้ไกลมากที่สุดถึง 300 กิโลเมตร โดยในการโจมตีจะสามารถยิงได้ครั้งละ 1 ลูก เมื่อใช้ระบบไฮมาร์ส (HIMARS) เป็นเครื่องยิง

 นี่เป็นอาวุธที่ยูเครนร้องขอจากสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน เนื่องจากขีปนาวุธจะช่วยโจมตีเพื่อเปิดทางให้กองทัพยูเครนโจมตีระยะไกลเข้าไปยังเป้าหมายทางการทหารในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองไปจากยูเครนได้มากขึ้น แต่พิสัยการยิงที่ไกลของขีปนาวุธชนิดนี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ลังเลและปฏิเสธจะส่งให้แก่ยูเครนมาตลอด เนื่องจากเกรงว่ายูเครนจะใช้ในการโจมตีระยะไกลเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย

 จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 2023 ประธานธิบดีไบเดนตัดสินใจส่งขีปนาวุธแอตแท็คเอ็มส์ให้แก่ยูเครนอย่างลับๆ เป็นครั้งแรก แต่รุ่นที่สหรัฐฯ ส่งไปในครั้งนั้นเป็นรุ่นเก่าที่ผลิตขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และมีพิสัยทำการอยู่ที่ 165 กิโลเมตรเท่านั้น

 แต่มาร์ก วาร์เนอร์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดเผยต่อสำนักข่าว CBS ว่า สหรัฐฯ จะส่งแอตแท็คเอ็มส์รุ่นใหม่ที่มีพิสัยทำการไกล 300 กิโลเมตรให้แก่ยูเครนในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลออกมาว่าสหรัฐฯ จะส่งให้แก่ยูเครนกี่ลูก

หากยูเครนได้รับขีปนาวุธพิสัยไกลชนิดนี้จริง นี่หมายความว่าพิสัยการโจมตีระยะไกลของยูเครนจะครอบคลุมทั่วคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียยึดครองไปจากยูเครนอย่างผิดกฎหมายเมื่อปี 2014 และเป็นที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่รัสเซียใช้เพื่อโจมตีระยะไกลไปยังยูเครน

 ยิ่งไปกว่านั้น รัศมีการโจมตีจะครอบคลุมไปถึงสะพานเคียร์ช สะพานความยาว 18.1 กิโลเมตรที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในการเชื่อมระหว่างคาบสมุทรไครเมียและแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงและกำลังบำรุงทางการทหารจากแผ่นดินใหญ่รัสเซียเข้าไปยังพื้นที่ยึดครอง

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนก.ค.ปีที่แล้วในช่วงที่มีปฏิบัติการโต้กลับ กองทัพยูเครนเคยส่งกองเรือโดรนปริศนาพุ่งเข้าโจมตีสะพานแห่งนี้ เพื่อตัดเส้นทางการขนส่งกำลังบำรุงทางการทหารเข้าสู่พื้นที่ยึดครองมาแล้ว จนต้องปิดการใช้งานสะพานชั่วคราว

ส่วนในปีนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ไม่เปิดเผยตัวตนของหน่วยข่าวกรองทหารยูเครน หรือ HUR หน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการโจมตีระยะไกลไปยังเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการทหารในพื้นที่ยึดครองและในแผ่นดินรัสเซีย เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก่อนที่สหรัฐฯ จะอนุมัติความช่วยเหลือว่า  ยูเครนมีแผนที่จะโจมตีสะพานเคียร์ชอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้ และการทำลายสะพานเคียร์ชอีกครั้งถือเป็นสิ่งที่ต้องทำและเลี่ยงไม่ได้

 หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า ยูเครนต้องการขีปนาวุธพิสัยไกลจากชาติพันธมิตรเพื่อใช้ร่วมกับกองเรือโดรนที่ยูเครนผลิตและพัฒนาขึ้นมาเองในการโจมตีสะพานเคียร์ชหากไม่นับขีปนาวุธแอตแท็กเอ็มส์ที่ยูเครนกำลังจะได้รับจากสหรัฐฯ ขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยูเครนเคยได้จากชาติพันธมิตรมาก่อนหน้านี้ได้แก่ สตอร์ม แชโดว์จากสหราชอาณาจักร และสคาล์ปจากฝรั่งเศส

 ส่วนขีปนาวุธทอรัสที่มีพิสัยทำการที่ 500 กิโลเมตรนั้น เยอรมนียังไม่ตัดสินใจส่งให้ยูเครน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการยกระดับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกในภาคพื้นทวีปยุโรป

สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดขึ้นหากยูเครนไม่สามารถพลิกสถานการณ์ที่แนวรบและกลายเป็นฝ่ายแพ้สงคราม คือการที่รัสเซียเดินหน้ารุกรานโปแลนด์และกลุ่มประเทศบอลติกนอกเหนือจากความพยายามรวบรวมความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อช่วยยูเครนแล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือ การป้องปรามให้รัสเซียไม่กล้าขยายวงสงครามออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ในยุโรป

 โดยอาวุธหนึ่งที่มักใช้ในยุทธศาสตร์เช่นนี้คือ นิวเคลียร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ ‘ฟาคต์’ (FAKT) ของโปแลนด์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของอันเช ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจคือ อาวุธนิวเคลียร์ ในการสัมภาษณ์ ประธานาธิบดีโปแลนด์ตอบคำถามเกี่ยวกับระบบ ‘nuclear sharing’ ของนาโตที่เปิดให้ประเทศสมาชิกที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง รับอาวุธนิวเคลียร์จากชาติสมาชิกเข้ามาติดตั้งในประเทศ โดยระบุว่า  โปแลนด์พร้อมที่จะให้ชาติพันธมิตรนาโตนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาติดตั้ง

 โปแลนด์คือหนึ่งในประเทศที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเป็นเป้าหมายต่อไปในการรุกรานของรัสเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่รัสเซียเชื่อว่าเคยอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมของตนเองในอดีต แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ โปแลนด์มีพรมแดนติดกับเบลารุส พันธมิตรคนสำคัญของรัสเซียและแคว้นคาลินินกราด ดินแดนส่วนแยกของรัสเซียที่ไม่มีพื้นที่ติดกับแผ่นดินใหญ่

โดนัลด์ ตุสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ระบุว่า เลขาธิการนาโตและนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจะเดินทางเยือนกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ในวันนี้อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาว่า ระบบ nuclear sharing จะอยู่ในการหารือครั้งนี้หรือไม่

หลังจากที่ประธานาธิบดีโปแลนด์ระบุว่าพร้อมที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์จากชาติพันธมิตรนาโต ดมิทรี เปสคอฟ  โฆษกประจำรัฐบาลรัสเซียก็ได้ออกมาตอบโต้  โดยระบุว่ารัสเซียจะวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อตอบสนอง หากเกิดการตัดสินใจเช่นนั้นจริงในหมู่ชาตินาโต

2024-04-23T14:20:27Z dg43tfdfdgfd