อิสราเอลเมินสหรัฐฯ ประกาศ เตรียมโต้กลับอิหร่านแน่นอน!

คืนวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา กองกำลังอิหร่าน ได้ส่งโดรนและขีปนาวุธกว่า 300 ลำ เข้าโจมตีแผ่นดินอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ หลังจากที่อิสราเอลยิงขีปนาวุธเข้าใส่สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรีย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์อิสลามเสียชีวิต

การโจมตีกลับของอิหร่านส่งผลให้อิสราเอลเสียหายไม่มากนัก เนื่องจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ รวมถึงพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรช่วยกันสกัดโดรนและขีปนาวุธดังกล่าวไว้

คณะรัฐมนตรีสงครามอิสราเอลได้ข้อสรุปวิธีการตอบโต้อิหร่านแล้ว

"ทรัมป์" เชื่อ หากตนเป็นประธานาธิบดี จะไร้เหตุอิหร่านโจมตีอิสราเอล

อิหร่านโจมตีอิสราเอล ปฏิบัติการที่ถูกออกแบบมาให้ล้มเหลวอยู่แล้ว?

ล่าสุด อิสราเอลออกมาประกาศโต้กลับอิหร่านแล้ว ถึงแม้ว่าบรรดาผู้นำจากหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ จะออกมาเรียกร้องให้อิสราเอล หลีกเลี่ยงการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะอาจนำไปสู่สงครามระดับภูมิภาค

พลโทเฮอร์ซี ฮาเลวี เสนาธิการกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล หรือ IDF ออกมาประกาศเมื่อคืนวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาว่า ถึงแม้อิสราเอลจะประสบความสำเร็จในการป้องกันตนเองจากการถูกอิหร่านโจมตี เนื่องจากความช่วยเหลือของพันธมิตรที่ช่วยกันสกัดโดรนและขีปนาวุธ แต่อิสราเอลไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป โดยไม่มีการสั่งสอนหรือตอบโต้อิหร่านคืนอย่างแน่นอน

การประกาศตอบโต้อิหร่านของพลโทฮาเลวี เกิดขึ้นขณะที่เขาเดินทางไปที่ฐานทัพอากาศเนวาติม ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ฐานทัพอากาศเนวาติม เป็นฐานทัพหลัก และถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล

และยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายการโจมตีของอิหร่าน เมื่อคืนวันที่ 14 เมษยนที่ผ่านมา โดยขีปนาวุธและโดรนบางส่วนสามารถหลุดรอดการสกัด และทำให้ฐานทัพบางส่วนได้รับความเสียหาย

เสนาธิการ IDF ระบุว่า การโจมตีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอิสราเอล เป็นสิ่งที่ไม่เคยขึ้นมาก่อน และนี่ถือเป็นความชอบธรรมที่อิสราเอลจะเอาคืน

แม้จะไม่ได้ระบุถึงวิธีการที่จะใช้ในการตอบโต้อิหร่าน แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เสนาธิการ IDF เลือกใช้เครื่องบินรบ F-35 เป็นฉากหลังระหว่างแถลง อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า อิสราเอลอาจใช้เครื่องบินรบรุ่นนี้ในการตอบโต้

โดยเมื่อ 15 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้คุยกับ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอลว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะปกป้องอิสราเอลอย่างสุดกำลังหากถูกอิหร่านโจมตีอีก แต่จะไม่สนับสนุนปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับอิหร่าน

เช่นเดียวกับ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส และ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนี ที่ระบุว่า จะทำทุกทางเพื่อหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรง โดยร้องขอไปที่อิสราเอลให้หลีกเลี่ยงวิธีการโจมตีไปที่แผ่นดินอิหร่าน

อีกชาติหนึ่งที่ออกมาเช่นกัน คือ สหราชอาณาจักร โดยเมื่อคืนวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ออกมาขอร้องอิสราเอลไม่ให้โจมตีกลับอิหร่าน โดยระบุว่า เขาเข้าใจว่าทำไมอิสราเอลต้องการตอบโต้อิหร่าน แต่ในฐานะพันธมิตร อยากขอร้องไม่ให้อิสราเอลทำเช่นนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามที่อาจขยายวงกว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีล่าสุดของอิสราเอล ดูเหมือนว่าการตอบโต้กลับอิหร่านน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ประเด็นอยู่เพียงแค่ว่า จะเป็นการตอบโต้กลับในรูปแบบใด ที่จะไม่สร้างความหมางใจกับชาติพันธมิตรที่ออกมาร้องขอ เพราะนอกจากการประกาศของเสนาธิการกองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอลแล้ว ในวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลก็มีข้อสรุปออกมาคล้ายกัน

โดยเมื่อเย็นวันที่ 15 เมษายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามอิสราเอล ได้ประชุมกันอีกรอบ ก่อนได้ข้อสรุปว่า อิสราเอลไม่สามารถเพิกเฉยต่อการโจมตีขนานใหญ่ของอิหร่านเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายนที่ผ่านมาได้ และกำลังหาวิธีตอบโต้อิหร่าน โดยจะพยายามไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายขยายวงเป็นสงครามภูมิภาค

คำถามคือ อิสราเอลจะใช้วิธีการใดในการตอบโต้โดยไม่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย และนำไปสู่การที่ชาติพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ช่วยปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่พอใจและเลิกสนับสนุน

นิตยสาร Foreign Policy ของสหรัฐฯ ได้ออกบทวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สิ่งที่อิสราเอลอาจทำมีอยู่ 3 ทาง ทางแรกคือ การลอบสังหารบรรดานายทหารระดับสูงของอิหร่าน ซึ่งเป็นวิธีการที่อิสราเอลใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยครั้งล่าสุด คือ การโจมตีไปที่สถานกงสุลของอิหร่านที่กรุงดามัสกัสของซีเรีย เพื่อสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หรือ IRGC 2 นาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน จนเป็นเหตุให้อิหร่านต้องตอบโต้กลับด้วยการส่งโดรนและขีปนาวุธเข้ามาในแผ่นดินอิสราเอลเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ทางที่ 2 คือ การโจมตีไปที่กองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแทนของอิหร่านทั้งในอิรัก เลบานอน และเยเมน รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างทางการทหารในแผ่นดินอิหร่าน

และทางที่ 3 คือ การโจมตีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านเริ่มโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ไม่นาน หลังการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979

มีรายงานออกมาต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า อีกสิ่งที่อิสราเอลอยากทำเพื่อสกัดไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ คือ การโจมตีโดยตรงไปที่สถานที่ตั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในแผ่นดินอิหร่าน

หลังอิหร่านโจมตีแผ่นดินอิสราเอลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า อิสราเอลอาจใช้สถานการณ์นี้เป็นข้ออ้าง หรือเงื่อนไขในการโจมตีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่เหมาะที่สุดที่อิสราเอลรอคอยมานาน

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่า อิสราเอลอาจเลือกใช้ทางนี้ในการตอบโต้อิหร่าน ทำให้ ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ออกมาแสดงความเป็นกังวล

2024-04-16T13:37:30Z dg43tfdfdgfd