สนธิสัญญาปี 1909 สยามยกดินแดนมลายูให้อังกฤษเพื่อผลประโยชน์ของสองฝ่าย

สนธิสัญญาปี 1909 สยามยกดินแดนมลายูให้อังกฤษแลกกับผลประโยชน์มหาศาล

ใน ค.ศ. 1909 สยามและอังกฤษทำสนธิสัญญาร่วมกัน โดยมีข้อตกลงสำคัญข้อหนึ่งคือ สยามยกดินแดนมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้กับจักรวรรดิอังกฤษ เพื่อแลกกับการยกเลิกอนุสัญญาลับปี 1897 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเงินกู้สำหรับรถไฟสายใต้ของสยาม

ทำไมสองชาติต้องทำสนธิสัญญาฉบับนี้? อนุสัญญาลับปี 1897 คืออะไร?

ย้อนกลับไปในปี 1893 เมื่อสยามปะทะจักรวรรดิฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ยังผลให้สยามต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ซึ่งไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อสยามเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนต่ออำนาจของอังกฤษในภูมิภาคอีกด้วย เพราะอังกฤษมีดินแดนอาณานิคมทั้งในพม่า อินเดีย และมลายู

ดังนั้น ในปี 1896 ฝรั่งเศสและอังกฤษหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาดินแดนโพ้นทะเลของสองมหาอำนาจที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงว่าหากเกิดการกระทบกระทั่งกันในการ “ล่าอาณานิคม” ก็อาจนำไปสู่สงครามใหญ่ของทั้งสองชาติได้ และดินแดนของสยามก็ถูกพูดถึงในการนี้ด้วย 

ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า ปฏิญญาปี 1896 มีสาระสำคัญสรุปคือ กำหนดให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของสองมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาปี 1896 ไม่ได้กำหนดถึงดินแดนในภาคใต้ของสยาม ไม่ได้มีการรับประกันว่าจะมีการยึดดินแดนมลายูของสยาม

ดังนั้น สยามและอังกฤษจึงทำอนุสัญญาลับปี 1897 กำหนดให้ดินแดนตั้งแต่เมืองบางสะพาน (ประจวบคีรีขันธ์) จนถึงสุดมลายูเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ โดยสยามไม่สามารถยกดินแดนส่วนนี้ให้ชาติใดได้ แลกกับการที่อังกฤษรับรองอธิปไตยในดินแดนส่วนนี้ให้สยาม และรับปากที่จะร่วมต่อต้านชาติอื่นใดที่จะเข้ามายึดครองดินแดนส่วนนี้

กระทั่งในปี 1907 มีการเจราจาเรื่องดินแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เอ็ดเวิร์ด เฮนรี สโตรเบล (Edward Henry Strobel) ที่ปรึกษารัฐบาลสยามเห็นว่า หากสยามยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ที่เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม ภาษา และเชื้อชาติเขมรอยู่มาก แลกกับการได้ตราด และพนมไพรมีลักษณะเป็นไทยแท้ และได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมาด้วยก็ถือว่ามีค่าสูงกว่าดินแดนในเขมร ซึ่งต่อมาก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันจนสำเร็จ

หลังเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้สโตรเบลหันมาพิจารณาในลักษณะคล้ายกัน นั่นคือดินแดนมลายู เขาเสนอให้สยามเจรจากับอังกฤษเกี่ยวกับดินแดนดังกล่าว เพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ “สถานการณ์ของไทยจะเข็มแข็งขึ้น เพราะไม่ต้องรับผิดชอบในดินแดนส่วนที่ไม่ใช่ของไทยอีก”

ข้อเสนอของสโตรเบลทำให้เสนาบดีสยามโจมตีการที่จะยกดินแดนมลายูให้อังกฤษเป็นเรื่องเสียเกียรติภูมิอย่างมาก แต่เขาก็ชี้แจงว่า ดินแดนส่วนนั้นเป็นดินแดนของมลายู ทั้งในเรื่องศาสนา ภาษา ความเชื่อ ตลอดจนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นดินแดนที่สร้างความยุ่งยากในการปกครองให้สยามเสมอ 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “นายสโตรเบลอยากจะยกให้อังกฤษเปล่า ๆ โดยไม่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนเสียด้วยซ้ำ”

สโตรเบลพยายามโน้มน้าวรัชกาลที่ 5 ว่า สยามควรยกเลิกอนุสัญญาลับปี 1897 โดยเร็วที่สุด เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำลายเกียรติภูมิของสยามมากที่สุดเท่าที่เคยลงนามมา และทำให้สถานะของสยามที่เหนือกว่าเจ้าประเทศราชหมดความหมายไปโดยพฤตินัย

รัชกาลที่ 5 จึงกำหนดจุดยืนให้สโตรเบลว่า “…ข้างฝ่ายเราที่ประสงค์แท้จริงอยากได้นั้น เพื่อจะเลิกสัญญาลับ ซึ่งอังกฤษเข้ามาข่มขี่ให้เราทำเมื่อเวลายุ่งกับฝรั่งเศส ตั้งฉายาสเฟียร์ออฟอินฟลวนซ์ (Sphere of Influence – ผู้ขียน) เข้ามาจนหมดแหลมมลายู…ข้างเราอยากจะเลิกสัญญานั้นเสีย ตัดเขตแดนตั้งแต่มณฑลปัตตานีขึ้นมาให้พ้นจากฉายา…” 

และ “…สำหรับกลันตันและตรังกานูนั้น ฉันไม่รู้สึกว่ามีประโยชน์อะไรด้วย ขอให้ท่านจัดการอะไรไปตามประสงค์ได้…”

ท้ายที่สุดแล้ว สยามและอังกฤษตกลงทำสนธิสัญญาปี 1909 สาระสำคัญคือ

  1. สยามโอนสิทธิ์การปกครองและบังคับบัญชาเหนือกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษรับจะใช้หนี้สินทั้งหมดที่รัฐเหล่านี้มีต่อสยามแทน ส่วนดินแดนมลายูที่ยังเป็นของสยามได้แก่ มณฑลปัตตานี มณฑลสตูล (แบ่งมาจากไทรบุรี) และตากใบ (แบ่งมาจากกลันตัน) 
  2. ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในสยามได้
  3. ยกเลิกอนุสัญญาลับปี 1897  
  4. อังกฤษให้เงินกู้แก่สยามจำนวน 4.63 ล้านปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้

ก่อนจะมีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ 1 วัน มีการเรียกประชุมเสนาบดีเพื่อชี้แจงเหตุผลการทำสนธิสัญญาว่า

“…พระราชอาณาเขตรกรุงสยามมีสองชั้น คือหัวเมืองชั้นใน กับชั้นประเทศราช…การตัดพระราชอาณาเขตรแหลมมลายูครั้งนี้ ส่วนที่เป็นของเราแท้ กล่าวคือ มณฑลปัตตานีเราจัดการปกครองอย่างหัวเมืองทั้งปวง ส่วนที่เอามาปกครองไม่ได้เช่นที่ตัดออกไปนี้ ก็นับวันแต่จะเหินห่างจากเราไปทุกที…ในเวลานี้เรายังมีของที่มีราคาอยู่ จึงควรถือเอาราคาอันนี้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น…แลราคาของหัวเมืองแขกก็จะตกต่ำลงไปทุกที จึงเห็นว่าแลกเปลี่ยนกันเสียเวลานี้ดีกว่า…

การเสียพระราชอาณาเขตรไปครั้งนี้ ก็เป็นที่เสียพระเกียรติยศมาก เป็นที่เศร้าสลดเสียใจอยู่ แต่ครั้นจะเอาไว้ก็มีแต่จะเกิดความร้อนใจ…เพื่อจะได้จัดการปกครองให้ทั่วถึงในส่วนที่เป็นของเรา เราจะมีอำนาจมากกว่าเมื่อมีเมืองที่ไม่มีอำนาจพ่วงอยู่เพราะว่า เมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองให้ได้สิทธิขาดจริง ๆ เช่นเมื่อเกิดโจรผู้ร้ายที่สำคัญขึ้น เราต้องจัดเรือรบไปปราบปราม เป็นต้น เป็นการที่ต้องเสียเปล่า เพราะเหตุฉะนี้จึงตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยน…

เราไม่มีความประสงค์อันใด นอกจากที่จะให้หัวเมืองมลายูเป็นพระราชอาณาเขตชั้นนอกติดกับฝรั่ง อีกประการหนึ่ง เมืองเหล่านี้ปรากฏว่าอยู่ในเขตรของไทยจะตกไป แต่อังกฤษเข้ามาบำรุงก็ไม่ขาดทุนอันใด ชั่วแต่ไม่ได้ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่เป็นราคากี่มากน้อย แต่ก็ยังรู้สึกเป็นการเสียเกียรติอยู่…

ส่วนเขตรแดนที่แบ่งคราวนี้ ตัดเขตรแดนเมืองกลันตันหน่อยหนึ่ง เขตรแดนเมืองไทรหน่อยหนึ่ง มาเพิ่มมณฑลปัตตานี แต่เมืองสตูลที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรนั้น ตัดขาดมาขึ้นมณฑลภูเก็ตทีเดียว ตั้งแต่นี้ไปเราไม่มีประเทศราชอีก เลิกได้หมดทีเดียว…”

ขณะที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“…เรื่องเขตรแดน ความจริงเป็นอย่างไรฉันรู้สึกชัดเจนถือว่าการที่ได้ตกลงเช่นนี้ เป็นข้อที่ระงับความลำบากอันน่าจะเกิดขึ้นระหว่าง อังกฤษ กับ ไทย ไปเสียได้ทางหนึ่ง แต่เป็นธรรมดาที่ฉันเคยรู้สึกตัวมาช้านานว่าเมืองทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเรามากฤๅน้อยเพียงใดตามที่เป็นอยู่ ก็ยังรู้สึกว่าเป็นของกรุงสยาม เมื่อต้องปราศจากไปก็ย่อมเป็นที่เศร้าใจอยู่เป็นธรรมดา

อีกประการหนึ่งคนที่จะรู้ความจริงว่าเมืองเหล่านี้เกี่ยวข้องแก่เรามากน้อยเพียงใดนั้นน้อย คนในเมืองเราเองอาจจะคิดเห็นว่า ฉันได้อยู่นานมาได้ด้วยยอมลดตัวเล็กลงไปทุกทีซึ่งมีเวลาหมด ส่วนคนภายนอกทั่วไปกล่าวคือโลกนี้จะเห็นว่าเมืองไทยมีแต่เวลายุบลงไป ไม่ใช่เวลาที่อยู่ตัว ด้วยเหตุเหล่านี้ถึงว่าจะเป็นความจริงบ้างเกินความจริงบ้าง เมื่อรวมกันเข้าหมด ทำให้ใจฉันเศร้าหมองเหี่ยวแห้งไปเป็นอันมาก…”

สนธิสัญญาปี 1909 จึงไม่ใช่การเสียดินแดนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงไปโดยสูญเปล่า แต่มีผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายคือสยามและอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

 อ้างอิง : 

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย. (2562). เสียดินแดนมลายู : ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist. กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สนธิสัญญาปี 1909 สยามยกดินแดนมลายูให้อังกฤษเพื่อผลประโยชน์ของสองฝ่าย 

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.silpa-mag.com

2024-10-01T09:42:59Z dg43tfdfdgfd