5 คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบจากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน

ครั้งหนึ่งเรือดำน้ำไททันเคยมอบคำมั่นสัญญากับผู้โดยสารว่าจะมอบประสบการณ์การเดินทางครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยโอกาสที่จะได้ดำดิ่งลงไปใต้สมุทรในความลึก 3,800 เมตร สู่ส่วนลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเยี่ยมชมซากของเรือไททานิคในตำนาน

แต่ปีที่แล้ว การดำน้ำด้วยเรือดำน้ำไททันของบริษัทโอเชียนเกต (Oceangate) เกิดความผิดพลาดอย่างน่าเศร้า เรือประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่เมื่อเคลื่อนลงเข้าใกล้ก้นทะเล โศกนาฏกรรมครั้งนั้นคร่าชีวิตคนทั้งห้าคนในเรือดำน้ำลำดังกล่าว

ในขณะนี้หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกากําลังพิจารณาไต่ส่วนคดีสาธารณะนี้ในวันที่ 16 ก.ย. เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดภัยพิบัติ ตั้งแต่การออกแบบที่แหวกแนวของเรือดําน้ำลำนี้ไปจนถึงคําเตือนด้านความปลอดภัยที่ถูกละเลยและการขาดกฎระเบียบในเชิงลึก

ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ เรือดำน้ำไททันเริ่มเดินทางลงไปใต้ทะเลในเช้าวันที่ 18 มิ.ย. 2023

ภายในเรือดำน้ำลำนั้นมีผู้โดยสาร 5 คน ประกอบด้วย สต็อกตัน รัช ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชัน เจ้าของเรือดำน้ำ, ฮามิช ฮาร์ดิง นักสำรวจชาวอังกฤษ, พอล อองรี นาร์จีโอเลต นักดำน้ำชาวฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญ, ชาห์ซาดา ดาวุด นักธุรกิจชาวปากีสถาน และ สุเลมาน ลูกชายของเขา

ต่อมาในวันนั้น หลังจากที่เรือดำน้ำลำดังกล่าวล้มเหลวในการกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้รับแจ้งและดําเนินการค้นหาและกู้ภัยครั้งใหญ่

คนทั้งโลกต่างเฝ้าดูและติดตามการรายงานข่าวการหายไปของเรือดำน้ำลำนี้ แต่ต่อมาในวันที่ 22 มิ.ย. ในปีเดียวกัน ซากปรักหักพังของเรือดำน้ำลำนี้ถูกค้นพบห่างจากซากหัวเรือไททานิคประมาณ 500 เมตร และทราบว่า เรือดำน้ำไททัน “ถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน” (implosion) เพียงหนึ่งชั่วโมง 45 นาที หลังจากดำน้ำลงไปในทะเล

นี่คือคําถามสําคัญ 5 ข้อ ที่ยังต้องหาคำตอบ

ผู้โดยสารรู้หรือไม่ว่าการดําน้ำเกิดความผิดพลาด

ผู้โดยสารที่อยู่บนเรือดำน้ำไททันสามารถติดต่อกับเรือสนับสนุน โพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ด้วยการส่งข้อความผ่านระบบการสื่อสารบนเรือ บันทึกของการแลกเปลี่ยนข้อความเหล่านี้สามารถเปิดเผยได้ว่ามีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่า เรือดำน้ำลำนั้นกำลังล้มเหลวหรือไม่

เรือดำน้ำยังมีอุปกรณ์ตรวจสอบเสียงด้วย โดยพื้นฐานแล้วไมโครโฟนที่ติดตั้งในเรือดำน้ำจะรับสัญญาณว่า เรือดำน้ำกําลังบิดงอหรือแตกได้

“สต็อกตัน รัช เชื่อมั่นว่า หากมีความล้มเหลวเกิดขึ้นในเรือดําน้ำ พวกเขาจะได้รับเสียงเตือนจากระบบนั้น” วิคเตอร์ เวสโคโว นักสํารวจทะเลน้ำลึกชั้นนํารายหนึ่ง อธิบาย

แต่เขาบอกว่า เขาสงสัยอย่างมากว่า ระบบดังกล่าวจะให้เวลาเพียงพอที่จะทำให้เรือดําน้ำกลับสู่ผิวน้ำได้ทันเวลาหรือไม่ “ปัญหาคือ คําเตือนนั้นจะเกิดขึ้นรวดเร็วแค่ไหน”

หากไม่มีปัญหาที่ชัดเจนในระหว่างการดำน้ำลงไปและสัญญาณเตือนไม่ดัง ผู้ที่อยู่บนเรืออาจไม่ตระหนักถึงชะตากรรมที่คืบคลานเข้ามาของพวกเขา

การถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลันเกิดขึ้นทันที คงไม่มีเวลาสําหรับผู้โดยสารที่จะรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ส่วนใดของเรือดำน้ำไททันที่ล้มเหลวขัดข้อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบซากปรักหักพังของเรือดำน้ำไททันเพื่อค้นหาต้นตอของความล้มเหลวดังกล่าว และพบว่ามีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับการออกแบบ ส่วนพื้นที่มองเห็นจากหน้าต่างได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในที่ระดับความลึก 1,300 ม. โดยผู้ผลิตเท่านั้น แต่เรือดำน้ำไททันกลับดําน้ำลึกขึ้นลงไปเกือบสามเท่า

ตัวลำเรือของเรือดำน้ำไททันยังมีรูปร่างผิดปกติ กล่าวคือ เป็นรูปทรงกระบอกมากกว่าทรงกลม เรือดําน้ำที่ดำน้ำลึกส่วนใหญ่มีตัวเรือทรงกลม เพื่อให้ผลกระทบของแรงกดบดของน้ำลึกกระจายอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ลำเรือดำน้ำดังกล่าวยังทําจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่ถูกต้องตามเกณฑ์สําหรับเรือทะเลน้ำลึก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้โลหะ เช่น ไททาเนียมที่ถูกใช้บ่อยที่สุด เนื่องจากมีความมั่นคงปลอดภัยภายใต้แรงกดดันมหาศาล

แพทริค ลาเฮย์ ซีอีโอของไทรทัน ซับมารีนส์ (Triton Submarines) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรือดำน้ำชั้นนําอธิบายว่า “คาร์บอนไฟเบอร์ถือเป็นวัสดุที่คาดเดาไม่ได้ [ในมหาสมุทรลึก]”

ทุกครั้งที่เรือดำน้ำไททันลงไปที่ซากเรือไททานิค ซึ่งดำเนินการดําน้ำแล้วหลายครั้ง คาร์บอนไฟเบอร์จะถูกบีบอัดและเกิดความเสียหาย

“มันอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เพราะเส้นใยจะทยอยแตกออก” เขากล่าว

รอยต่อระหว่างวัสดุต่าง ๆ ก็ทําให้เกิดความกังวลเช่นกัน คาร์บอนไฟเบอร์ที่ติดอยู่กับวงแหวนไททาเนียมสองวง ทําให้เกิดจุดอ่อนที่ลำเรือ

แพทริก ลาเฮย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเรือดำน้ำเชิงพาณิชย์มีประวัติความปลอดภัยที่ยาวนานและไร้ที่ติ

“ส่วนอุปกรณ์ของโอเชียนเกตคือหนึ่งในความบิดเบี้ยว” เขาบอกกับบีบีซีนิวส์

เสียงที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรหันเหความสนใจจากการค้นหาหรือไม่

เรือ เครื่องบิน และยานใต้น้ำแบบอาร์โอวีที่ควบคุมจากระยะไกล (remotely operated vehicles --ROVs) ถูกระดมมาใช้เพื่อค้นหาเรือดำน้ำไททันทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก

ใน 2-3 วันแรกในการค้นหา มีรายงานเสียงใต้น้ำที่ตรวจพบโดยโซนาร์ของเครื่องบินค้นหา ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่เสียงเหล่านั้นมาจากเรือดําน้ำลำที่กำลังค้นหา

ทว่าเมื่อนำยานพาหนะที่ควบคุมจากระยะไกลไปค้นหาแหล่งที่มา แต่กลับไม่พบอะไรเลย

ถึงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าเสียงดังกล่าวคืออะไร เนื่องจากในมหาสมุทรมีเสียงดังรบกวนและยิ่งทำให้การค้นหาดังกล่าวย่อมจะมีเสียงรบกวนมากขึ้นไปอีก

ระบบโซนาร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ตรวจพบเสียงใต้ทะเลที่เกี่ยวข้องมากขึ้นในขณะที่เรือดําน้ำหายไป อย่างเช่น สัญญาณเสียงที่สอดคล้องกับการถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในวันที่พบซากเรือดำน้ำไททันเท่านั้น

ไม่ทราบว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้รับแจ้งถึงเสียงรบกวนเมื่อใด หรือครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่รออยู่บนเรือสนับสนุนของเรือดําน้ำได้รับแจ้งหรือไม่

ในที่สุด หุ่นยนต์สำรวจทะเลน้ำลึก ก็กลับไปยังที่ที่เรือดำน้ำไททันหายไปและพบซากปรักหักพัง

โรรี โกลเดน ซึ่งเคยร่วมการสำรวจของโอเชียนเกต ขณะที่การติดต่อตัดขาดไปเพิ่งเล่าให้กับบีบีซีฟังว่า ผู้ที่อยู่บนเรือบนผิวน้ำต่างเผชิญกับความกลัวและ “ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ” ตลอดระยะเวลา 4 วัน

เหตุใดโอเชียนเกตจึงมองข้ามความกังวลด้านความปลอดภัยไป

หลายคนกังวลเกี่ยวกับเรือดําน้ำที่ผลิตโดยโอเชียนเกต

หนึ่งในนั้นคือ วิคเตอร์ เวสโคโว ซึ่งรู้สึกกังวลมาก โดยเขาได้เรียกร้องให้ผู้โดยสารหลายคนไม่ไปใช้บริการท่องใต้สมุทรกับเรือดำน้ำไททัน รวมถึงฮามิช ฮาร์ดิง ซึ่งเป็นเพื่อนของเขาและเป็น 1 ใน5 คน ที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมดังกล่าว

“ผมบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่ควรเข้าไปในเรือดําน้ำลำนั้น” เขากล่าว

ความกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยยังถูกส่งไปยังโอเชียนเกตโดยตรง เช่น จากเดวิด โลชริดจ์ อดีตผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท ผู้เคยประเมินสภาพของเรือดําน้ำนั้นในขณะที่กําลังพัฒนา

ข้อมูลในเอกสารของศาลสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 แสดงให้เห็นว่า โลชริดจ์ ได้ระบุถึง “ข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง” ในหลายจุด และการขาดการทดสอบที่อาจ “ทําให้ผู้โดยสารตกอยู่ในอันตรายสุดขีดในเรือดําน้ำทดลองลำหนึ่ง”

วิศวกรจากสมาคมเทคโนโลยีทางน้ำ (Marine Technology Society - MTS) ยังกล่าวอีกว่า แนวทางการทดลองของโอเชียนเกต อาจส่งผลให้เกิด “ผลลัพธ์เชิงลบ (ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงหายนะ)” ในจดหมายที่แบ่งปันกับสต็อกตัน รัช ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัท

ข้อความในอีเมลที่เป็นการสื่อสารระหว่างกัน ที่แสดงต่อทีมข่าวบีบีซีนิวส์ เมื่อปีที่แล้ว ร็อบ แมคคัลลัม ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลน้ำลึกบอกกับรัชว่า ไม่ควรใช้เรือดําน้ำสําหรับการดําเนินการดําน้ำลึกเชิงพาณิชย์ เพราะจะเท่ากับการนำผู้โดยสารไปอยู่ใน “พลวัตที่อันตราย”

ในการตอบกลับของรัชในประเด็นดังกล่าว เขาตอบว่า เขา “รู้สึกเบื่อหน่ายกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่พยายามใช้ข้อโต้แย้งด้านความปลอดภัยเพื่อหยุดยั้งการพัฒนานวัตกรรม” และปฏิเสธคําเตือนว่า เขาอาจจะฆ่าใครบางคนโดยระบุว่า “ไม่มีมูลความจริง”

ด้วยการเสียชีวิตของซีอีโอของโอเชียนเกต เราจะไม่มีทางถามเขาได้ว่า ทําไมเขาถึงเลือกที่จะไม่ฟังข้อกังวลเหล่านี้ แต่การไต่สวนสาธารณะสามารถเปิดเผยได้ว่า มีใครอีกบ้างที่บริษัทรู้เกี่ยวกับพวกเขา และเหตุใดจึงไม่มีการดําเนินการใด ๆ

ทําไมทางการถึงอนุญาตให้เรือดำน้ำไททันปฏิบัติการใต้น้ำได้

เรือดําน้ำลึกสามารถผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างถ้วนถี่โดยองค์กรทางทะเลที่เชี่ยวชาญและเป็นอิสระ เช่น สำนักงานเรืออเมริกัน - American Bureau of Shipping (ABS) หรือ หน่วยงานตรวจสอบระดับโลกอย่าง DNV ในนอร์เวย์

แต่โอเชียนเกตกลับเลือกที่จะไม่ให้เรือดำน้ำไททันเข้าสู่กระบวนการนี้

นอกจากนี้ การประเมินดังกล่าวจะสามารถยืนยันว่า เรือหรือยานพาหนะลำดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดหรือไม่ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง การทดสอบ และการดําเนินงาน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถเลือกได้ว่าจะได้รับการรับรองเรือดําน้ำในทะเลน้ำลึกได้ แต่ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ

รัชอธิบายว่า เรือดำน้ำของเขาเป็น “การทดลอง” และเขาเคยโพสต์ในบล็อกข้อความหนึ่งในปี 2019 เขาแย้งว่า การรับรองคือ “ชะลอการพัฒนานวัตกรรม”

ในข้อความตอบโต้กันทางอีเมลกับร็อบ แมคคัลลัม รัชกล่าวว่า เขาไม่ต้องการกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าเรือดำน้ำไททันปลอดภัย และนี่คือแนวทางการทำงานของเขาเอง และว่า “แบบฟอร์มที่ระบุถึงความยินยอม” ของผู้โดยสารก็เพียงพอแล้ว

ผู้โดยสารบนเรือดำน้ำไททันจะต้องจ่ายค่าบริการสูงถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 8.3 ล้านบาท) ต่อราย โดยพวกเขาทั้งหมดต้องลงนามในเอกสารสละสิทธิ์ในการเรียกร้องความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันบริษัทจากการถูกฟ้องดำเนินคดี

โออิชิน แฟนนิง นักธุรกิจชาวไอริช เคยร่วมในปฏิบัติการดําน้ำด้วยเรือดำน้ำไททันสองครั้งในปี 2022 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเกิดภัยพิบัติร้ายแรงของเรือดําน้ำลำนี้

เขากล่าวว่า ทีมโอเชียนเกตให้ความสําคัญกับความปลอดภัยอย่างจริงจัง โดยมีการบรรยายสรุปอย่างละเอียดก่อนลงจากเรือดำน้ำในแต่ละครั้ง แต่เขาเองก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า เรือดำน้ำไททันไม่ได้รับการรับรอง [ตามมาตรฐานในอุตสาหกรรม]

เขากล่าวว่า "ผมคงจะโกหก ถ้าผมบอกว่า ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมันสอดคล้องกับบรรทัดฐานบางอย่าง"

“เราทุกคนต่างรู้ว่า เรือดำน้ำไททันเป็นการทดลอง เรามั่นใจมาก เพราะเห็นได้ชัดว่า มีการดําน้ำมาแล้วถึงสองถึงสามครั้งก่อนหน้านั้น และดูเหมือนว่ามันจะทํางานได้ดี”

การไต่สวนสาธารณะจะมีขึ้นเป็นเวลาสองสัปดาห์ ความหวังในการไต่สวนครั้งนี้ คือ คําตอบที่ได้จะสามารถป้องกันไม่ให้ภัยพิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

2024-09-16T09:46:06Z dg43tfdfdgfd