ทำไมอิหร่านโจมตีอิสราเอล ?

อิหร่านยิงโดรนและขีปนาวุธเข้าใส่อิสราเอล หลังจากให้คำมั่นว่าจะตอบโต้หลังเกิดเหตุโจมตีนองเลือดสถานกงสุลในกรุงมาดากัส เมืองหลวงของซีเรีย

แม้รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยออกมายอมรับว่าเป็นผู้โจมตีสถานกงสุลดังกล่าว แต่หลายฝ่ายเชื่ออย่างกว้างขวางว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนั้น และนี่นับเป็นครั้งแรกที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลโดยตรง

ก่อนหน้านี้ อิสราเอลและอิหร่านต่างมีส่วนร่วมในสงครามเงาอันยาวนานหลายปี เพื่อโจมตีทรัพย์สินของกันและกัน โดยไม่ออกมายอมรับการกระทำดังกล่าว

การโจมตีเหล่านั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดสงครามในฉนวนกาซาซึ่งถูกจุดชนวนขึ้นหลังกลุ่มฮามาสจากปาเลสไตน์เข้าโจมตีอิสราเอลเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

ทำไมอิหร่านและอิสราเอลเป็นศัตรูกัน ?

ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรกันจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ในอิหร่าน ซึ่งนำมาสู่ระบอบการปกครองที่ใช้แนวคิดการต่อต้านอิสราเอลมาเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ อิหร่านไม่ยอมรับสิทธิในการดำรงอยู่ของอิสราเอลและพยายามหาหนทางทำลายความชอบธรรมนั้น

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เคยเรียกอิสราเอลว่าเป็น “เนื้องอกมะเร็ง” ที่ “จะถูกถอนรากถอนโคนและถูกทำลายลงอย่างไม่ต้องสงสัย”

อิสราเอลเชื่อว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง เห็นได้จากวาทกรรมคุกคามของรัฐบาล นอกจากนี้ อิหร่านยังสนับสนุนทุนและอาวุธให้กับกองกำลังของกลุ่มปาเลสไตน์ รวมถึงฮามาส และกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งกลายเป็นการซ่องสุมกองกำลังตัวแทนที่มีเจตจำนงว่าจะทำลายอิสราเอลไปโดยปริยาย มากกว่านั้นยังมีความเชื่อว่าอิหร่านยังแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ แม้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ต้องการสร้างระเบิดนิวเคลียร์

อิหร่านต้องการโต้กลับเหตุโจมตีกงสุลในซีเรีย

อิหร่านกล่าวกว่าการทิ้งระเบิดในอิสราเอลเมื่อคืนวันเสาร์ (13 เม.ย.) เป็นการตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ในสถานกงสุลอิหร่าน กรุงดามากัส ประเทศซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้บัญชาการระดับสูงของอิหร่าน

อิหร่านกล่าวโทษอิสราเอลสำหรับการโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการละเมิดอธิปไตย ขณะที่อิสราเอลไม่ได้ออกมายอมรับว่าตนเองเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว แต่มีการสันนิษฐานกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นฝีมืออิสราเอล

เหตุโจมตีสถานกงสุลอิหร่านคร่าชีวิตผู้คนไป 13 ราย รวมถึงพลจัตวาโมฮัมหมัด เรซา ซาฮิดี ผู้บัญชาการอาวุโสประจำหน่วยคุดส์ ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศของกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐอิสลาม (ICRG) โดยเขาเป็นบุคคลสำคัญในปฏิบัติการของอิหร่านที่เกี่ยวข้องกับการติดอาวุธให้กองกำลังฮิซบอลเลาะห์ชีอะห์ของเลบานอน

IRCG ส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์ รวมถึงขีปนาวุธความแม่นยำสูงผ่านซีเรียไปยังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยอิสราเอลพยายามยับยั้งการส่งมอบเหล่านี้ รวมทั้งพยายามป้องกันไม่ให้อิหร่านเสริมความแข็งแกร่งทางทหารในซีเรียด้วย

พันธมิตรของอิหร่านคือใครบ้าง ?

อิหร่านได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรและกองกำลังตัวแทนในตะวันออกกลาง ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สัมพันธมิตรของฝ่ายต่อต้าน” ท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลในภูมิภาคนี้ โดยระดับการสนับสนุนของอิหร่านจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

ซีเรียเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน โดยอิหร่านและรัสเซียช่วยรัฐบาลซีเรียของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด รอดพ้นจากสงครามกลางเมืองซีเรียที่ยาวนานนับทศวรรษ

กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลัง พวกเขาสาดกระสุนและขีปนาวุธข้ามพรมแดนมายังอิสราเอลแทบทุกวัน นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ส่งผลให้พลเรือนหลายหมื่นคนในสองฝั่งชายแดน ต้องจำใจอพยพออกจากบ้านเรือน

อิหร่านสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชีอะห์หลายแห่งในอิรักซึ่งใช้จรวดโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ หลายแห่งในอิรัก ซีเรีย และจอร์แดน ขณะที่สหรัฐฯ ออกมาตอบโต้หลังพบว่ามีทหาร 3 นายถูกสังหารที่ด่านทหารในจอร์แดน

อิหร่านยังให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮูติในเยเมน ซึ่งควบคุมพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ ด้านกลุ่มฮูติเคยยิงขีปนาวุธและโดรนใส่อิสราเอลเพื่อแสดงความสนับสนุนกลุ่มฮามาสด้วย และยังปฏิบัติการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าใกล้กับชายฝั่งที่กลุ่มฮูติควบคุม ส่งผลให้มีเรือ 1 ลำจมลง ส่งผลให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ออกมาโจมตีฮูติเพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าว

อิหร่านยังจัดหาอาวุธและฝึกรบให้กับกองกำลังปาเลสไตน์หลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มฮามาส ซึ่งโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว จุดชนวนให้เกิดสงครามในฉนวนกาซาถึงปัจจุบัน และทำให้เกิดการเผชิญหน้าภายในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและกองกำลังตัวแทน กับ อิสราเอลและพันธมิตร อย่างไรก็ตามอิหร่านปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ ในการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567

อิหร่านและอิสราเอลมีนิวเคลียร์หรือไม่

อิสราเอลถูกสันนิษฐานว่ามีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง แต่ยังมีนโยบายแสดงเจตนาอันคลุมเครือ

อิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์และปฏิเสธว่ากำลังพยายามใช้โครงการนิวเคลียร์สำหรับพลเรือนของตนเอง เพื่อพัฒนาเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ระดับโลกพบอนุภาคยูเรเนียมที่มีค่าความบริสุทธิ์มากถึง 83.7% ซึ่งใกล้เคียงกับเกรดอาวุธมาก โดยพบมันในชั้นใต้ดินของโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดว์ และทางอิหร่านบอกว่า “เป็นความผันผวนที่ไม่ได้ตั้งใจ” ให้แร่ยูเรเนียมมีความบริสุทธิ์ขนาดนั้น

อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้บริสุทธิ์มากกว่า 60% อย่างเปิดเผยมานแล้วกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับประเทศมหาอำนาจของโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวใกล้ล่มสลายอยู่แล้ว นับตั้งแต่นายโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ ถอนตัวเพียงฝ่ายเดียวและกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งในปี 2018 ซึ่งอิสราเอลได้คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ตั้งแต่แรกด้วย

ขีดความสามารถทางทหารของอิหร่านและอิสราเอล

อิหร่านมีขนาดใหญ่กว่าหากเทียบในทางภูมิศาสตร์ และมีประชากรเกือบ 90 ล้านคน ซึ่งมากกว่าอิสราเอลเกือบ 10 เท่า แต่สิ่งนี้ไม่ได้บ่งชี้อานุภาพทางทหาร

อิหร่านลงทุนในขีปนาวุธและโดรนอย่างมาก มีคลังแสงขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง และยังจัดหาอาวุธให้กับตัวแทนหรือพันธมิตร เช่น กลุ่มฮูติในเยเมนและฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน

สิ่งที่อิหร่านไม่มีคือระบบป้องกันภัยทางอากาศอันทันสมัยและเครื่องบินขับไล่ แต่เชื่อกันว่ารัสเซียร่วมมือกับอิหร่านเพื่อพัฒนาสิ่งเหล่านั้น เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารของเตหะรานที่มอบให้มอสโกในการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยอิหร่านจัดหาโดรนโจมตีชาเฮดให้กับรัสเซีย และมีรายงานว่ารัสเซียเองก็พยายามตั้งโรงงานผลิตอาวุธของตัวเอง

ในทางตรงกันข้าม อิสราเอลมีกองทัพอากาศที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามรายงานของ IISS ระบุว่าอิสราเอลมีเครื่องบินไอพ่นอย่างน้อย 14 ฝูง รวมถึง F-15, F-16 และเครื่องบินล่องหน F-35 รุ่นใหม่ล่าสุด นอกจากนี้อิสราเอลยังมีประสบการณ์การโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนที่ไม่เป็นมิตรมาก่อน

2024-04-16T04:46:19Z dg43tfdfdgfd