นี่คือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 จากปี 2563 ไม่ใช่ช่วงน้ำท่วมในเดือนกันยายน 2567

ในช่วงที่ภาคเหนือของประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นยางิในเดือนกันยายน 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมคำกล่าวอ้างว่าพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเชียงรายและทรงสั่งการให้ทหารช่วยเหลือผู้เหลือผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ โดยภาพต้นฉบับถูกเผยแพร่โดยสำนักพระราชวังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และแสดงให้เห็นพระราชกรณียกิจของในหลวงที่ทอดพระเนตรการสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

"#ในหลวง ร.10 ทรงเครื่องบินมาที่ค่ายทหารเชียงราย" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายประกอบภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567

"สั่งเตรียมถุงยังชีพ พร้อมโดน ส่ง สิ่งของพระราชทาน เข้าไป มีกลุ่ม ทหารรอรับ เป็นจุด ๆ เช้าวันนี้เริ่มส่งถึงมือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม"

ภาพในโพสต์เผยให้เห็นในหลวงฉลองพระองค์ชุดสีน้ำเงินและหน้ากากสีเหลือง โดยมีเจ้าหน้าที่ในชุดทหารคุกเข่าอยู่รอบ ๆ

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ประชาชนในจังหวัดเชียงรายเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นผลพวงจากไต้ฝุ่นยางิที่พัดผ่านภาคเหนือของเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า (ลิงก์บันทึก)

ทางการระบุว่า น้ำท่วมและดินถล่มที่เกิดจากไต้ฝุ่นยางิได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 500 รายทั่วทั้งภูมิภาค (ลิงก์บันทึก)

ภาพและคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ X ที่นี่ และติ๊กตอกที่นี่

โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังหนังสือพิมพ์มติชนรายงานเมื่อวันที่ 12 กันยายน ว่า ในหลวงโปรดเกล้าให้องคมนตรีมอบถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคให้ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดพิษณุโลก (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยกับสื่อว่า ในหลวงมีพระราชกระแสทรงห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยและพระราชทานกำลังใจแก่อาสาสมัครจากทุกภาคส่วน (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 18 กันยายน AFP ไม่พบรายงานหรือกำหนดการพระราชกิจที่ระบุว่าในหลวงเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเชียงรายตามคำกล่าวอ้าง

ภาพถ่ายในช่วงโควิด-19 ระบาด

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายระบุว่า ในหลวงทอดพระเนตรการสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งพระองค์จะพระราชทานไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ และชุมชนแออัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักพระราชวัง (ขวา):

เมื่อค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติม พบว่าภาพเดียวกันนี้ยังปรากฏในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

ภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในช่วงนาทีที่ 2:02 ของวิดีโอถูกเผยแพร่ทางช่องยูทูบของสำนักข่าวไทย อสมท และในรายงานภาษาไทยของสำนักข่าวบีบีซี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ภาพชุดเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในคลังภาพของ AFP ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เช่นกัน

คำบรรยายภาพในคลังภาพ AFP ระบุว่า "เอกสารแจกไม่ระบุวันที่จากสำนักพระราชวังของประเทศไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 แสดงให้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ (ซ้าย) ทอดพระเนตรการสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่จะพระราชทานให้กับประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในกรุงเทพมหานคร"

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่นี่ และ นี่

2024-09-18T09:04:58Z dg43tfdfdgfd