‘บราซิล - ฝรั่งเศส’ ระดมเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์พิทักษ์ ‘ป่าแอมะซอน’

บราซิล และฝรั่งเศสเปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อปกป้อง “ป่าฝนแอมะซอน” ในพื้นที่บราซิล และกายอานา โดยจะเปิดเป็นกองทุนรัฐบาล และเอกชน มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ระหว่างที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เยือนประเทศอเมริกาใต้เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ มาครงเดินทางถึงเมืองเบเลมพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำแอมะซอน และเข้าพบกับประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล

“พวกเรา บราซิล ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำแอมะซอน ร่วมกันตัดสินใจผนึกกำลัง เพื่อส่งเสริมแผนงานเพื่อการคุ้มครองป่าเขตร้อนระหว่างประเทศ” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ร่วม

กลุ่มประเทศดังกล่าวให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกันเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนภายในปี 2573 เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยในปี 2568 บราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 30 หรือ COP30 ในเมืองเบเลน

“ประธานาธิบดีทั้งสองแสดงความมุ่งมั่นต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการจัดการป่าเขตร้อนของโลกอย่างยั่งยืน พร้อมที่จะทำงานด้วยความทะเยอทะยาน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน กลไกตลาด และการจ่ายเงินสำหรับบริการด้านสิ่งแวดล้อม” 

ลุยซ์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

เครดิต: ทวิตเตอร์ @LulaOficial

ตั้งเป้า ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า “แอมะซอน” ภายใน 2573

มาครง และ ลูลา นั่งเรือล่องแม่น้ำไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาโรงงานผลิตช็อกโกแลตอย่างยั่งยืนบนเกาะใกล้เบเลม พร้อมเข้าร่วมการประท้วงของกรีนพีซบราซิลเพื่อยกเลิกการพัฒนาแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ใกล้กับปากแม่น้ำแอมะซอน และพบปะกับผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง

ในงานนี้ มาครงได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Legion of Honor) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์เกียรติยศสูงสุดของฝรั่งเศสให้แก่ เรานี เมทุกทีเร หัวหน้าชนเผ่าคายาโป (Kayapo) ชนพื้นเมืองของบราซิลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าฝนแอมะซอน และเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยเขาร่วมทำการรณรงค์ร่วมกับ Sting วงดนตรีชื่อดัง 

โอกาสนี้ หัวหน้าเรานีได้ยื่นเอกสารคัดค้านโครงการ Ferrograo ซึ่งเป็นการสร้างทางรถไฟความยาว 1,000 กิโลเมตร แก่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เนื่องจากไม่มีการถามความเห็น และขอคำปรึกษาจากชนพื้นเมือง พร้อมขอให้ ลูลา ไม่อนุมัติเส้นทาง Ferrograo ที่จะลดต้นทุนธุรกิจการเกษตรสำหรับการขนส่งธัญพืชจากรัฐมาตูโกรซู ไปยังท่าเรือแม่น้ำแอมะซอน และออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การพบกันของประธานาธิบดีบราซิล (ซ้าย) หัวหน้าเผ่า (กลาง) และประธานาธิบดีฝรั่งเศส

เครดิต: ทวิตเตอร์ @EmmanuelMacron

 

มาครง กล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันต่อสู้กับการทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย และจะนำเงินลงทุนทั้งหมดที่หาได้มาใช้เพื่อต่อสู้กับการบุกรุกพื้นที่ป่า

“สิ่งที่เราต้องการทำคือ การอนุรักษ์ สร้างความตระหนักรู้ เพิ่มร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ สร้างกลยุทธ์ที่สนับสนุนชนเผ่าพื้นเมือง และร่วมกันดำเนินการลงทุนในเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อช่วยป่าแอมะซอนเพิ่มมากขึ้น” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดีของบราซิล กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 เราไม่ได้ทำเพราะมีใครร้องขอ ไม่ใช่เพราะมีการประชุมใดๆ แต่เราตัดสินใจเองว่าจะต้องต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าด้วยความศรัทธาของพวกเรา” พร้อมให้คำมั่นต่อคำมั่นที่จะสานต่อการกำหนดเขตดินแดนของชนพื้นเมือง  และการสร้างเขตอนุรักษ์ป่าสงวน

 

ฟื้นความสัมพันธ์ “ฝรั่งเศส-บราซิล”

มาครงเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกที่เยือนบราซิลในรอบ 11 ปี ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศส และบราซิลเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในปี 2562 เมื่อครั้งที่ มาครง ได้สร้างแรงกดดันต่อ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีของบราซิลในขณะนั้น ให้แสดงความรับผิดชอบต่อนานาชาติ จากปัญหาไฟป่ารุนแรงในป่าแอมะซอน โดยโบลโซนาโร กล่าวหามาครง และประเทศกลุ่ม G7 ปฏิบัติต่อบราซิลเหมือนเป็นกับว่าเป็น “อาณานิคม

“หลังจากความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างฝรั่งเศส และบราซิลได้หยุดชะงักลงในช่วงที่โบลโซนาโรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบราซิล” ที่ปรึกษาประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

เอ็มมานูเอล มาครง เยือนบราซิล

เครดิต: ทวิตเตอร์ @EmmanuelMacron

 

“ป่าแอมะซอน” ป่าใหญ่ที่สุดในโลก

ป่าแอมะซอน” ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 6.9 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 40% ของทวีปอเมริกาใต้ นับเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด มีพืช และสัตว์ประมาณ 3 ล้านสายพันธุ์อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ รวมถึงชนพื้นเมืองกว่า 1 ล้านคน แต่การตัดไม้ทำลายป่าอย่างแพร่หลายกำลังสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยข้อมูลในปี 2565 ระบุว่าประมาณ 20% ป่าฝนแอมะซอนถูกทำลายจากการลักลอบตัดไม้ไปแล้ว และอีก 6% มีความเสื่อมโทรมอย่างมาก

ตามข้อมูลจากทั้งรัฐบาลบราซิล และ Imazon องค์กรที่ติดตามการทำลายป่า พบว่า ในสมัยที่ โบลโซนาโร เป็นประธานาธิบดีมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเขาไม่เชื่อในเรื่องภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

หลังจากที่ ลูลาเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งจนถึงปัจจุบันสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล (ISPE) พบว่า พื้นที่การตัดไม้ในป่าแอมะซอนลดลง 50% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565

แต่อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่ายังจะดีขึ้น แต่สภาพพื้นที่ป่าแอมะซอนยังคงอยู่ในสถานะวิกฤติ โดยการที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าป่าแอมะซอนเกิดความเครียดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ยิ่งส่งผลให้เข้าใกล้จุดสูญเสียการควบคุมในช่วงกลางศตวรรษนี้

ที่มา: EarthEuro NewsReuters

2024-03-28T08:16:23Z dg43tfdfdgfd