ผลวิจัยชี้ เมืองพระนคร กัมพูชา คือหนึ่งในเมืองที่มีผู้อาศัยมากสุดในโลกยุคศตวรรษที่ 13

เมืองพระนคร (Angkor) ใน กัมพูชา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและนักประวัติศาสตร์ทั่วโลก สืบเนื่องจากมีนครวัด (Angkor Wat) โบราณสถานอันทรงคุณค่ายิ่งของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเชิงประชากรศาสตร์ในเมืองพระนคร ซึ่งเป็นภูมิภาครอบด้านของนครวัด กลับยังไม่ค่อยมีข้อมูลกระจ่างชัดมากนัก ขณะที่งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science Advance รายงานว่า จากการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีผู้อยู่อาศัยในเมืองพระนครช่วงศตวรรษที่ 13 ระหว่าง 700,000-900,000 คน

เมืองพระนคร ประชากรหนาแน่น!

งานวิจัยที่ใช้ชื่อว่า “Diachronic modeling of the population within the medieval Greater Angkor Region settlement complex” เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 เผยว่า เมืองพระนครเวลานั้น เป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว เพราะเมืองพระนครที่มีผู้อยู่อาศัย 700,000-900,000 คน ยังมากกว่าสถิติประชากรเมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 693,000 คน เมื่อปี 2019 เสียอีก

การวิจัยครั้งนี้รวบรวมข้อมูลที่มีในรอบ 30 ปี ผนวกกับเทคโนโลยีด้านการวัดระยะทางและประมวลผลเป็นรูปจำลอง 3 มิติที่เรียกว่า LiDar (Light Detection and Ranging) เพื่อนำข้อมูลมาร่วมประมวลผลวิเคราะห์พื้นที่เมืองพระนคร ซึ่งตั้งอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ด้วยเทคโนโลยีสแกนทำให้นักโบราณคดีสามารถเห็นรูปแบบเศษซากโครงสร้าง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นอกย่านใจกลางเมืองพระนคร ไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งทำขึ้นจากไม้และวัสดุอื่น

เนื้อหาในแถลงการณ์เผยแพร่ผลการวิจัย อลิสัน เค. คาร์เตอร์ (Alison K. Carter) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) ที่ร่วมนำทีมนักโบราณคดี เปิดเผยว่า เทคโนโลยี LiDar ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถเห็นถึงลักษณะพื้นที่สูงต่ำ และสามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดไหนเป็นสระน้ำ

เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาผนวกรวมกับการหาอายุด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon dating) ไปจนถึงการใช้อัลกอริธึมจากระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองในอุปกรณ์ประมวลผลขั้นสูง (machine learning algorithms) นำมาสร้างแผนที่โดยคร่าว เพื่อสร้างเป็นแบบจำลองการพัฒนาของเมืองขึ้น และค้นหาการเติบโตทางประชากรศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา

ผลการวิจัยสรุปว่า ในพื้นที่พระนครเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนรวมแล้วประมาณ 700,000-900,000 คน ในช่วงศตวรรษที่ 13 และเชื่อว่ากระบวนการศึกษาที่ใช้วิเคราะห์ลักษณะนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ศึกษากับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ได้หลายแห่ง

เมืองแห่งการเกษตร-การค้า

จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บริเวณรอบเมืองพระนครในช่วงยุคแรกของเมือง ผู้คนในบริเวณนั้นทำการเกษตร ปลูกข้าว และพืชชนิดอื่น การขยายตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว เวลาต่อมา อัตราประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมือง

บริเวณศูนย์กลางของเมืองเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าราชวงศ์ ไปจนถึงช่างฝีมือ ผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปกรรมการแสดง นักบวช และครู ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทในการบริหารจัดการเมืองในภาพรวม

นอกเหนือไปจากพื้นที่ใจกลางเมืองและชานเมือง นักวิชาการยังเชื่อว่า ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ตามรายทางในเส้นทางของถนนและลำคลอง คาดว่าคนเหล่านี้น่าจะประกอบการค้า

ทั้งนี้ การศึกษาทางโบราณคดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี LiDar หลายครั้งที่มันช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตก่อนยุคสมัย ตัวอย่างหนึ่งคือ การค้นพบซากโครงสร้างเมืองมายาจำนวนมากเมื่อปี 2018 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัวเตมาลา การค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ประชากรมายาในช่วงระหว่าง ค.ศ. 250-900 (A.D.) อาจมีมากถึง 15 ล้านคน มากกว่าตัวเลขที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ 3 เท่า

ดังที่กล่าวแล้วว่า การศึกษาด้านประชากรของเมืองพระนครเป็นข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาตั้งแต่ยุควิชาการสมัยใหม่ หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส น่าจะเป็นผู้เอ่ยถึงจำนวนตัวเลขเกี่ยวกับเมืองพระนครเป็นคนแรกๆ โดยบันทึกของเขาอ้างว่า อาณาจักร Khmer “ครอบครองกองทัพที่มีทหาร 5-6 ล้านนาย”

สำหรับตัวเลขที่เชื่อกันว่ามาจากการคำนวณอย่างมีระบบเป็นครั้งแรกจริงๆ แล้ว เป็นตัวเลขจากนักโบราณคดีนามว่า Bernard-Philippe Groslier ซึ่งเสนอตัวเลขประชากรในพื้นที่รอบเมืองพระนครว่ามีราวๆ 1.9 ล้านคนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 12

ขณะที่การคำนวณประชากรในยุคสมัยใหม่ครั้งล่าสุดก่อนหน้าผลการศึกษาชิ้นนี้ ตัวเลขประชากรถูกประเมินไว้ว่าอยู่ที่ 750,000 คน (E. Lustig, 2001)

มิเรียน ที. สตาร์ก (Miriam T. Stark) ผู้ร่วมวิจัยในการศึกษาครั้งล่าสุด และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย แสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาประชากรเมืองพระนคร ใน กัมพูชา เป็นเรื่องสำคัญสำหรับช่วยเสริมวิสัยทัศน์ด้านวิถีชีวิตในเมืองในอนาคตซึ่งมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก

เมื่อพิจารณาจาก “เมืองพระนคร” อันเป็นเมืองในเขตร้อนที่ยืนยงอยู่หลายศตวรรษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพภูมิอากาศอันไม่แน่นอน การสืบค้นประวัติศาสตร์ของเมืองในอดีตย่อมมีส่วนช่วยผู้วางแผนโครงสร้างเมืองเข้าใจข้อจำกัดของเมืองได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

E. Lustig, “Water and the transformation of power at Angkor, 10th to 13th centuries A.D.” thesis, University of Sydney. 2001

Gershon, Livia. “Thirteenth-Century Angkor Was Home to More People Than Modern Boston”. Smithsonian. Online. Published 12 MAY 2021. Access 13 MAY 2021. Klassen, Sarah and Carter, Alison Kyra. “A metropolis arose in medieval Cambodia – new research shows how many people lived in the Angkor Empire over time”. The Conversation. Online. Published 8 MAY 2021. Access 13 MAY 2021. Klassen, Sarah and co., “Diachronic modeling of the population within the medieval Greater Angkor Region settlement complex”. Science Advance. Online. Published 7 MAY 2021. Access 13 MAY 2021.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ผลวิจัยชี้ เมืองพระนคร กัมพูชา คือหนึ่งในเมืองที่มีผู้อาศัยมากสุดในโลกยุคศตวรรษที่ 13

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.silpa-mag.com

2022-10-08T03:08:18Z dg43tfdfdgfd