ลี ยง พัด คือใคร? เกี่ยวอะไรกับทุนนิยมพวกพ้องและธุรกิจสีเทาในกัมพูชา

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาออกมาตอบโต้อย่างเดือดดาล ต่อกรณีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรนักธุรกิจใหญ่ ลี ยง พัด และ กลุ่มบริษัท L.Y.P. Group ของเขา ฐานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเทาในเมืองหลอกลวง (scam city) เพราะเขาคือกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนทุนนิยมพวกพ้อง (crony capitalism) ของประเทศนี้

‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่การเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวและการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางการเมือง มากกว่าการแข่งขันอย่างยุติธรรมและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยมักเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน การเอื้อประโยชน์พิเศษ และการอุปถัมภ์ระหว่างภาครัฐและกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ 

ลี ยง พัด เกิดในตระกูลเชื้อสายจีน-เขมร เมื่อปี 1958 ที่หมู่บ้านทมอซอร์ จังหวัดเกาะกง สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาในยุคหลังสงครามกลางเมือง ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้น 1990 

เมื่อกัมพูชาเริ่มฟื้นฟูสันติภาพ ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดเสรี เขาเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก ทำการค้าพืชผลทางการเกษตร ไปสู่การทำไร่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะไร่อ้อย ก่อนจะขยายไปด้านอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การท่องเที่ยว ไปจนถึงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาที่ออกมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และทำให้โลกเข้าใจนักธุรกิจใหญ่ชาวกัมพูชาคนนี้ผิดจากความจริงไปมากมาย แถลงการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า 

“บทบาทของ (ลี ยง พัด) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของกัมพูชาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผ่านการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท L.Y.P. เขามีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน  และการลดความยากจน ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาหลายพันคน” 

ท่าทีเช่นนี้ของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นหนาและลึกซึ้งของ ลี ยง พัด และพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party: CPP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 

หลังจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ระดับหนึ่ง ลี ยง พัด ก็เริ่มผันตัวเข้าสู่โครงสร้างในระบบอุปถัมภ์และการเมือง ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เขาได้รับตำแหน่ง ออกญา (Oknha) ในปี 2000 ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียรติยศที่กษัตริย์กัมพูชามอบให้บุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วยการบริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป ลี ยง พัด ได้รับตำแหน่ง เนี๊ยะออกญา (Neak Oknha) ในเวลาต่อมา เพราะเขาบริจาคเงินให้รัฐมากมายหลายล้าน จนกระทั่งปัจจุบันเขาได้เป็นประธานสมาคมออกญาแห่งกัมพูชา ซึ่งนับว่าได้เข้าถึงขั้นสุดยอดในระบบอุปถัมภ์ของสังคมลำดับชั้นของประเทศนี้ 

ลี ยง พัด เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการโดยได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกในสังกัดพรรคประชาชนกัมพูชาเป็นครั้งแรกในปี 2006 และมีความใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน อย่างมาก จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในปี 2022 เขาใช้ฐานะทางสังคมการเมืองเพื่อเข้าถึงสิทธิพิเศษและอภิสิทธิต่างๆในระบอบเศรษฐกิจการเมืองของกัมพูชา สร้างฐานะที่มั่งคั่งและมั่นคงให้กับอาณาจักรธุรกิจ L.Y.P. Group อย่างมากจนเชื่อกันว่า ลี ยง พัด น่าจะเป็น 1 ใน 10 มหาเศรษฐีของกัมพูชาในปัจจุบัน 

อำนาจทางการเมืองทำให้ธุรกิจในกลุ่ม ลี ยง พัด ได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะในเกาะกงและกำปงสปือ เพื่อใช้ในโครงการทางด้านการเกษตรขนาดใหญ่ อย่างเช่น การทำไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ที่ในเวลาต่อมาถึงกับทำให้เขาสามารถครอบงำตลาดจนผูกขาดในภาคส่วนนี้ได้ 

มีรายงานขององค์กรทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเคยกล่าวหาว่า เขาใช้อิทธิพลทางการเมืองและความสนิทสนมกับครอบครัวของ ฮุน เซน รุกที่อุทยานแห่งชาติโบทูมสกอร์ในจังหวัดเกาะกงอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี คิดเป็นเนื้อที่มากกว่าแสนไร่

นอกจากนี้อำนาจทางการเมืองยังอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจกลุ่มของ ลี ยง พัด ได้รับสัมปทานในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มากมายในกัมพูชา เช่น การสร้างสะพาน ถนน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) อย่าง Phnom Penh Special Economic Zone และ Koh Kong Special Economic Zone ที่มีมูลค่าการลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์

สิ่งที่พาให้ ลี ยง พัด ต้องมาพบกับการคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เนื่องมาจากความที่เขาทำตัวเป็นนายหน้า เที่ยวเชื้อเชิญและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งก็หมายความรวมถึงกลุ่มทุนสีเทาทั้งหลายแหล่ ให้อาศัยเส้นสายของเขาเข้าไปลงทุนในกัมพูชาได้โดยง่าย 

โรงแรมและรีสอร์ท 4 แห่งคือ O-Smach Resort, Garden City Hotel, Koh Kong Resort, Phnom Penh Hotel ที่เป็นของกลุ่มบริษัท L.Y.P. Group ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาและคอลเซ็นเตอร์ที่บังคับหรือหลอกลวงคนไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทาที่เขาชักชวนไปลงทุนในกัมพูชานั่นเอง

รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ระบุว่า ระหว่างปี 2022-2024 โอเสม็ดรีสอร์ท (O-Smach Resort) ถูกเปิดโปงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและเป็นระบบอย่างกว้างขวาง มีรายงานว่า ผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกหลอกไปทำงานที่รีสอร์ทแห่งนี้จะถูกยึดโทรศัพท์และหนังสือเดินทางทันทีที่เดินทางไปถึง และถูกบังคับให้ทำงานในขบวนการหลอกลวงหรือที่รู้จักกันดีในประเทศไทยว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั่นเอง เหยื่อหลายรายเปิดเผยว่าถูกทำร้ายร่างกายด้วยการช็อตไฟฟ้า ถูกบังคับให้จ่ายค่าไถ่จำนวนมาก หรือข่มขู่ว่าจะถูกขายให้กับกลุ่มหลอกลวงออนไลน์อื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เคราะห์ร้าย 2 รายที่กระโดดลงมาจากอาคารภายในรีสอร์ทนั้นจนเสียชีวิต

ทางการได้เคยบุกทลายแก๊งเหล่านี้ และได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่โอเสม็ดรีสอร์ทหลายครั้ง รวมถึงในเดือนตุลาคม 2022 และล่าสุดเดือนมีนาคม 2024 จนสามารถช่วยเหลือเหยื่อจากหลายชาติ เช่น ชาวจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ผลจากการสืบสวนสอบสวนดังกล่าว ทำให้กัมพูชาถูกจัดชั้นในรายงานประจำปีของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐว่าด้วยการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ในชั้นที่ 3 (Tier3) ซึ่งเป็นชั้นต่ำสุด และส่งผลให้ ลี ยง พัด และ บริษัท LYP ต้องถูกคว่ำบาตรดังกล่าว และการคว่ำบาตรอาจจะทำให้ทรัพย์สินของ ลี ยง พัด (ถ้ามี) ในสหรัฐฯ โดนอายัด และอาจจะทำให้การทำธุรกิจของเขาอาจจะไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อทุนนิยมพวกพ้องในประเทศนี้แต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลี ยง พัด คือใคร? เกี่ยวอะไรกับทุนนิยมพวกพ้องและธุรกิจสีเทาในกัมพูชา

ตามข่าวก่อนใครได้ที่

Website : https://plus.thairath.co.th

Facebook : Thairath Plus

2024-09-18T23:29:02Z dg43tfdfdgfd