‘วีริศ’ นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการรถไฟฯ ตั้งเป้าล้างหนี้ 2 แสนล้านใน 4 ปี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังลงนามสัญญาว่าจ้าง และเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ อย่างเป็นทางการ วันนี้ (19 ก.ย.) โดยระบุว่า การบริหารงานในยุคตน 4 ปีนี้จะเร่งรัดแก้หนี้สะสมของ ร.ฟ.ท. ที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเร่งหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ อาทิ การเปิดกว้างจัดหาเอกชนเข้ามาเช่าใช้รางรถไฟทั้งในรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) และการหาพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสามารถทำสัญญาร่วมกันในการเช่าใช้รางได้ทันที โดยเรื่องนี้สามารถทำได้ทันที นอกจากหารายได้เข้าองค์กรแล้ว ยังลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของการขนส่งสินค้าในประเทศด้วย

ขณะเดียวกันจะนำผลศึกษาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังมาทบทวน และเร่งรัดการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าให้สะดวกมากขึ้น และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขอฃ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ศึกษาหลายพื้นที่ อาทิ ที่ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ดินสถานีมักกะสัน ที่ดิน RCA ที่ดินสถานีธนบุรี และสถานีแม่น้ำ เป็นต้น และยังต้องศึกษาพัฒนาที่ดินริมทางรถไฟให้สามารถสร้างรายได้

“วิสัยทัศน์ที่ตนรายงานต่อบอร์ดการรถไฟฯ สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาของที่นี่ โดยมุ่งเน้นการลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยอันดับแรกจะต้องนำสัญญาและโครงการต่างๆ ของการรถไฟฯ มาศึกษาและประเมินแนวทางการหารายได้ ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะนำใช้เวลาตรวจดูไม่เกิน 1 เดือนหลังจากนี้”

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า แนวทางการล้างหนี้ของ ร.ฟ.ท. เบื้องต้นตนจะเจรจากับกระทรวงการคลัง ถึงตัวเลขหนี้ที่เกิดขึ้น และพบว่าเป็นหนี้ผูกพันจากการให้บริการรถไฟเชิงสังคม และต้องรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะจากรัฐบาล (PSO) โดยส่วนนี้ต้องหารือถึงตัวเลขการใช้บริการที่เกิดขึ้นจริง จำนวนเงินที่รัฐอุดหนุนในแต่ละปี รวมไปถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และประนอมหนี้ในบางส่วนที่สามารถทำได้ ซึ่งหากดำเนินการส่วนนี้ได้ก็จะทำให้จำนวนหนี้ของ ร.ฟ.ท.ลดลงทันที

 

ขณะที่โครงการลงทุนของ ร.ฟ.ท. ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีเป้าหมายเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน โดยจะต้องเร่งรัดก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เชื่อมต่อการขนส่งไทย - ลาว - จีน และประมูลสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ให้ครบจำนวน 7 เส้นทาง รวมไปถึงผลักดันโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

ทั้งนี้ ตนมีเป้าหมายในการบริหารองค์กรการรถไฟฯ โดยมุ่งมั่นพัฒนารถไฟไทยให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ประชาชนหันมาใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากดึงให้มาใช้รถไฟในการเดินทางชีวิตประจำวัน ซึ่งระบบขนส่งทางรางจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย และช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่องค์กรการรถไฟฯ กำลังผงกหัวขึ้น ภายในรัฐบาลสมัยนี้ควรเห็นการลงทุนที่ชัดเจน โดยตนเข้ามาบริหาร ร.ฟ.ท.ตั้งมั่นว่าจะนำพาองค์กรไปในทิศทางนี้ให้ได้ ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่าย ผู้บริหาร และพนักงานการถไฟฯ

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ เนื่องจากมีความสนิทสนมกับนายสุริยะ ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ตนเป็นคนที่ตั้งมั่นจะทำงานเพื่อประเทศชาติมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน อีกทั้งที่ผ่านมามีประสบการณ์ทำงานในองค์กรที่ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศมาหลายแห่ง ซึ่งการเข้ามาสมัครผู้ว่าการฯ ในครั้งนี้นับเป็นจังหวะโอกาสหนึ่งที่เห็นว่าทำได้ และตนก็เข้ามาสมัครตามกระบวนการอย่างถูกต้อง

สำหรับนายวีริศ อัมระปาล นับเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 20 โดยมีประวัติ

- เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2518 ปัจจุบันอายุ 49 ปี 

- จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ

สิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- จบการศึกษาระดับปริญญาโท Operations Research มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา 

- จบการศึกษาระดับปริญญาเอก Industrial and Systems Engineering มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส สหรัฐอเมริกา สาขาความเชี่ยวชาญด้านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems) ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ด้านระบบการจัดการภาคการผลิตและการขนส่ง (Production and Logistics Management) และด้านการบริหารระบบซ่อมบำรุง (Maintenance Management)

ประวัติการทำงานที่ผ่านมา

- ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (ด้านการพาณิชย์) 

- ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (ด้านวิชาการ) 

- คณะกรรมการจราจรขนส่งแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม

- อาจารย์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยการคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 

- กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2024-09-19T05:41:46Z dg43tfdfdgfd