สามผู้กำกับไทยและหนังประกวดสายทดลองใน BERLIN FILM FESTIVAL 2024

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน ครั้งที่ 74 ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ มีผลงานของผู้กำกับชาวไทยร่วมฉายด้วยสามเรื่องสามรายด้วยกัน โดยทั้งหมดอยู่ในสาย FORUM EXPANDED สำหรับงาน ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ที่ท้าทายขนบศิลปะภาพยนตร์แบบดั้งเดิมไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ๆ

 

โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานในลักษณะ video art หรือภาพยนตร์สั้นเชิงทดลองที่ต้องการนำเสนอมุมมองและความคิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ของศิลปิน

สำหรับผู้กำกับคนแรก ก็คือ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ซึ่งมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมฉายในสายนี้มาแล้วถึงสองครั้งกับเรื่อง Ploy ในปี 2021 และ Parasite Family ในปี 2022

 

 

ในปีนี้เขากลับมาพร้อมกับงาน video art ความยาว 22 นาที เรื่อง Myanmar Anatomy ที่ฉายในลักษณะ installation ณ Silent Green อาคารแสดงงานศิลปะที่ดัดแปลงมาจากเมรุเผาศพเก่าซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1910 โดยงานชิ้นนี้จะถูกฉายบนผืนจอขนาดกลางแบบวน loop ณ บริเวณโถงทางเข้าห้องใต้ดิน Betonhalle ซึ่งน่าจะเคยใช้เป็นที่เก็บศพในบรรยากาศสุดแสนวังเวง ให้ผู้สนใจสามารถนั่งชมได้ฟรีตลอดช่วงเทศกาล

 

Myanmar Anatomy เป็นงานที่ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ขยายความสนใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือเกี่ยวกับคนไทย ไปสำรวจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ด้วยการนำพาผู้ชมไปชมทั้งภาพนิ่งและ footage ภาพเคลื่อนไหวในสามสถานที่ ณ กรุงย่างกุ้ง นั่นคือ สวนสัตววิทยา ทางรถไฟสาย Yangon Circle และ พิพิธภัณฑ์ปราบปราบยาเสพติด

 

ประกอบกับภาพวาด cross section ของมนุษย์และสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ เพื่อแสดงโครงสร้างอวัยวะภายใน และเสียงเล่าบรรยายของนักกิจกรรมชาวพม่าที่ต้องหาวิธีหลบหนีออกนอกประเทศไปยังประเทศญี่ปุ่น ทำให้งานที่เหมือนจะมีเทคนิคในเชิงทดลองมากมาย ก็ยังมีความใกล้ชิดและ candid ไปพร้อม ๆ กันได้ จนรู้สึกเห็นใจต่อชะตากรรมของนักต่อสู้จากเพื่อนบ้านต่างชาติ ที่พวกเขาก็ต่างถูกกระทำและย่ำยีไม่ต่างจากผู้มีอุดมการณ์จากที่ไหน ๆ เลย

   

ส่วนภาพยนตร์สั้นความยาว 20 นาทีเรื่อง Here We Are ของ ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ ก็เคยเข้าประกวดสายรัตน์ เปสตันยี ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 27 ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) บ้านเราก่อนจะได้ไปอวดโฉมด้วยการฉายในโรงภาพยนตร์ที่เบอร์ลิน

 

 

หนังมีความเป็น essay film ที่เล่าประวัติศาสตร์ความเกี่ยวข้องของประเทศไทยกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา จากสายตาของสตรีที่ไม่ได้สนใจและไม่ได้มีความรู้ข้องแวะกับเรื่องเหล่านี้เลย

 

เมื่อบุตรสาวส่งหนังสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ให้มารดา เธอจึงส่งเสียงเล่าให้พวกเราทุกคนได้ฟังว่า คนใกล้ชิดที่ได้ที่ชื่อว่า ‘ป้า’ เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างไร และมันมีผลกระทบต่อคนในครอบครัวเธออย่างไรบ้าง

 

แต่เราจะไม่ได้เห็นหน้าค่าตามารดาผู้นี้เลย เพราะในส่วนของงานภาพจะเป็น footage การสวนสนามของทหาร กองกำลัง SEATO ภาพภายในบ้าน และนิตยสารเก่าโบราณที่เคยลงข่าวเหล่านี้ ตามวิถีของงานสารคดี essay film แบบเสียงไปทาง ภาพไปทาง ประกอบสร้างประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของผู้ได้รับผลกระทบแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุอันใด ใช้มุมมองของเหยื่อเพศหญิงซึ่งสนใจในความเป็นไปของญาติใกล้ชิดยิ่งกว่าอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

 

 

น่าเสียดายที่เสียงบรรยายของ จารุนันท์ พันธชาติ ออกจะติดจริตจะก้านในแบบนักพากย์นักบรรยายมากกว่าจะสัมผัสได้ถึงเสียงแห่งความเป็นแม่จริง ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้หนังยังดูประดิษฐ์สังเคราะห์มากกว่าจะเจาะลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ

   

ผลงานของผู้กำกับไทยรายสุดท้าย เป็นหนังสั้นเชิงทดลองที่ฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือ เรื่อง I Don’t Want to Be Just a Memory โดย ษาณฑ์ อุตมโชติ นักทำหนังที่นิยามตัวเองรวม ๆ เป็นชาวเอเชียอาคเนย์ผู้ไม่ยึดโยงกรอบคิดแบบสองขั้วเพศ หรือ non-binary ที่พำนักและทำงานอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

 

 

I Don’t Want to Be Just a Memory ก็เป็นภาพยนตร์ความเรียงบันทึกเหตุการณ์จริงของกลุ่มเพื่อนชาว LGBTQ+ หลากหลายรสนิยมเพศในเบอร์ลินที่มารวมตัวกันเพื่อระลึกถึงผองเพื่อนที่เสียชีวิตไปด้วยการเสพสารและโรคต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แสดงให้เห็นว่าพวกเขารักใคร่สามัคคีกันขนาดไหน

 

สลับกับภาพการเตรียมอาหารและเชื้อราบักเตรีที่ทำให้สิ่งอินทรีย์เหล่านี้ย่อยสลายไป ด้วยการตัดต่อและดนตรีประกอบอัน dynamic สร้างน้ำเสียงความร่วมสมัยให้กับหนัง

 

 

นอกเหนือจากผลงานแนวทดลองของผู้กำกับไทยทั้งสามรายแล้ว หนังในสายประกวดหลักหลาย ๆ เรื่องก็อาศัยลีลาเชิงทดลองในท่วงทำนองแปลก ๆ ใหม่ ๆ เช่นกัน

 

สำหรับรายที่เห็นชัดที่สุดนั้นก็น่าจะเป็นสารคดีเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง Architecton ของผู้กำกับ Victor Kossakovsky จากรัสเซีย ที่นำพาผู้ชมไปชมภาพเศษซากปรักหักพังของสถาปัตยกรรมตึกอาคารและแท่งคอนกรีตขนาดมหึมารูปร่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในยูเครน เลบานอน ตุรกี และที่อื่น ๆ

 

ทั้งโครงสร้างเก่าโบราณ ตั้งแต่ยุควิหารโรมัน มาจนถึงอาคารชุดที่ถูกกระทบทำลายด้วยแผ่นดินไหว สลับกับภาพการทำงานของสถาปนิกร่วมสมัยชาวอิตาลี Michele de Lucchi ที่ร่วมกับทีมงานออกแบบผลงาน The Magic Circle ด้วยการ install ก้อนหินเป็นวงกลมสมบูรณ์กลางสวน

 

หนังนำเสนอภาพต่าง ๆ อย่างงานลำนำกวี ไม่มีคำบรรยายมาคอยรบกวน เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ซึมซับและทบทวนถึงความเปราะบางของโครงสร้างอาคารที่แม้ว่าจะออกแบบมาให้แกร่งเพียงไหน ก็ยังมีโอกาสพังพาบอย่างราบคาบได้จากพละกำลังแห่งกาลเวลาที่เหนือกว่า

 

เรื่องต่อมา La Cocina ของผู้กำกับ Alonso Ruizpalacios จากเม็กซิโก ก็หยิบเอาบทละครอังกฤษเรื่อง The Kitchen (1957) ของ Arnold Wesker มาดัดแปลงเนื้อหา ย้ายสถานที่จากร้านอาหารในลอนดอนมาเป็นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

 

ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์สะบั้นรักหักสวาทระหว่างพ่อครัวชาวเม็กซิกันและพนักงานเสิร์ฟสาวชาวอเมริกัน ในวันอันแสนยุ่งเหยิงด้วยออร์เดอร์นับร้อย ๆ แถมผู้จัดการต้องคอยไต่สวนพนักงานแต่ละรายว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีเงินหายไปจากทิล!

 

หนังเพิ่มดีกรีความวายป่วงของเรื่องราว ด้วยงานด้านภาพขาวดำสลับการสาดสี ประกอบเสียงดนตรี มุมมอง และการตัดต่ออันจัดจ้านแพรวพราว องค์ประกอบภาพยนตร์ส่วนอื่น ๆ อาจจะดูน่าเร้าใจ แต่เรื่องการแสดงนี่สิที่ดูจะไม่ค่อยไหว แต่ละคนเล่นเยอะเล่นล้นจนดูเป็นตลก farce มากเกินไป จนพาลไม่ได้ความคมคายของบทต้นฉบับที่อ้างอิงมา

 

ส่วนหนังไซไฟลีลาทดลองเรื่อง Another End ของผู้กำกับ Piero Messina จากอิตาลี ก็มีจริตที่ผสานบรรยากาศแบบฟุ้งฝันแฟนตาซีให้เข้ากับเทคโนโลยีนำสมัย

 

 

เมื่อ Sal (Gael Garcia Bernal) สูญเสียแฟนสาว Zoe (Bérénice Bejo) ไป ยังความเสียอกเสียใจไม่อาจทำใจยอมรับได้ เดือดร้อนถึงพี่สาว Ebe (Bérénice Bejo) ที่รู้สึกเป็นห่วงเป็นใย และแนะนำให้เขาได้ลองใช้บริการเทคโนโลยี Another End เรียกจิตวิญญาณของภรรยาของ Sal กลับคืนมา เพียงแต่ว่าดวงจิตนี้จะไม่ได้มาสิงอยู่ในร่างเดิมคนเดิมแล้วนะ!

 

Sal จะยังสามารถสัมผัสกับความเป็น Zoe ที่เขาเคยรู้จักในสถานการณ์เช่นนี้ได้ไหม? ซึ่งหนังก็ยังเล่าออกมาในลักษณะท่วมท้นฟูมฟายตามสไตล์งานของผู้กำกับอิตาลี ที่แม้จะได้ดารานักแสดงฝีมือดีมาช่วยกันเล่นขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถจะทำให้หนังดูเปี่ยมพลังได้อย่างที่ผู้กำกับกำลังจะพยายาม

   

ปิดท้ายด้วยหนังที่ทดลองเล่าเรื่องราวของตนเองโดยผู้กำกับฝรั่งเศส Olivier Assayas กับเรื่อง Suspended Time โดยเฉพาะช่วงเวลาการปลีกวิเวกไปเก็บตัว ณ บ้านเก่าชายป่าต่างจังหวัดของผู้กำกับเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา

 

 

แต่ผู้กำกับ Olivier Assayas ก็ใช้ลีลาของ ‘เรื่องแต่ง’ ตั้งชื่อตัวละครที่เป็นตัวเขาเองและน้องชายให้ต่างออกไปว่า Etienne และ Paul แล้วใช้เสียงเล่าแบบ I-narrative บรรยายด้วยภาพถ่ายและ footage เก่าว่า บ้านหลังนี้คือที่ ๆ เขาและน้องชายเติบโตมา และในช่วงเวลาเก็บกักตัวนี้ พี่น้องสองหนุ่มก็จะได้กลับมาพักอาศัยอีกครั้ง พร้อมด้วยแฟนสาวคนใหม่ของแต่ละราย

 

หนังเล่าเรื่องราวคล้ายงานสารคดีที่ไม่ได้มี drama หรือสถานการณ์ใหญ่โตอะไรมากมาย เหมือนเจตนาหลักคือต้องการดูว่าเราจะสามารถเล่าเรื่องราวตัวเองผ่านตัวละครรายอื่นได้หรือไม่ ต่อให้เมื่อดูจบแล้วทุกคนก็รู้ ใคร ๆ ก็รู้ว่า Etienne ตัวจริงเป็นใคร ไม่เห็นจะต้องเหนียมอายที่จะเลือกใช้ชื่อต้นว่า Olivier!

2024-03-28T10:02:14Z dg43tfdfdgfd