ส่องชะตากรรม “เด็กจบใหม่” ในจีน ทำงานรายได้ต่ำกว่าวุฒิ ในวันที่ประเทศอยากเป็นเบอร์ 1 เทคโนโลยีโลก

วิกฤติการว่างงานเด็กจบใหม่ในจีน ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) พบว่า ในเดือนกรกฎาคม อัตราการว่างงานในกลุ่มชาวจีนอายุ 16-24 ปี พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 17.1% ซึ่งหมายความว่ามีเด็กจบใหม่ประมาณ 17 ล้านคนจาก 100 ล้านคน ที่กำลังอยู่ในสภาวะตกงาน

แม้รัฐบาลกลางจะพยายามหามาตรการช่วยเหลือเด็กจบใหม่ทุกวิถีทาง โดยการจี้หน่วยงานรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นให้เพิ่มการจ้างงาน ประกาศรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ชนบท ล่าสุดประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนหนุ่มสาวมาเป็นอันดับแรกในนโยบายพัฒนาประเทศ และเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเพื่อสร้างงาน รวมถึงปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมใหม่

แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่กลับมองว่า นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เป็นการซื้อเวลา เพื่อป้องกันการลุกฮือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจในแนวทางบริหารประเทศของผู้นำจีน เพราะนอกจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลางที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่เรียนสูงๆ แต่ไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพรองรับ ก็เป็นต้นเหตุที่ผลักดันให้เกิดวิกฤติการว่างงานครั้งนี้ ซ้ำร้ายยังเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานหลักของเด็กจบใหม่ โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของประเทศ

ทั้งนี้ความไม่พอใจดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ในการประชุมสองสภา สี จิ้นผิง ประกาศวิสัยทัศน์ “กำลังผลิตคุณภาพใหม่” หรือ productive force เน้นสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ ด้วยการลงทุนในภาคผลิตขั้นสูง เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อสร้างซัพพลายเชนให้ครบวงจร ลดการพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า การเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้ประธานาธิบดีจีนจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งอุตสาหกรรมดั้งเดิม แต่จะค่อย ๆ ใช้นวัตกรรมยกระดับภาคการผลิตเดิม แต่นั่นยิ่งสร้างความกังวลให้เด็กจบใหม่ที่จบการศึกษามาแล้วหลายปี แต่ยังคงตกงานอีกหลายล้านคน เพราะแม้พวกเขาจะเรียนมาสูง แต่กลายเป็นว่าความรู้ที่มี กลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและในอนาคต

“ฟรีแลนซ์” อาชีพหลัก คนจีนรุ่นใหม่

ด้วยโครงสร้างตลาดแรงงานที่บิดเบี้ยวตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำลง ทำให้ปัจจุบันบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากต้องผันตัวมาประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร พนักงานขับรถ ขายของออนไลน์ หรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลจาก Zhaopin บริษัทจัดหางานในจีน พบว่าในเดือนพฤษภาคม เด็กจบใหม่ 19.1% เลือกที่จะชะลอการเข้าทำงาน ในขณะที่ 13.7% เลือกที่จะทำงานที่มีความยืดหยุ่น การที่คนรุ่นใหม่ในจีนหันมาเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ผลักดันให้ Gig economy เติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยปัจจุบันแรงงานอิสระเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 23% ของแรงงานทั้งประเทศ สะท้อนว่าสังคมให้การยอมรับอาชีพอิสระมากขึ้น จากเดิมที่มองว่าอาชีพเหล่านี้มีไว้สำหรับแรงงานต่างด้าวเท่านั้น เนื่องจากอาชีพเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเด็กจบใหม่เลี้ยงตัวเอง ท่ามกลางวิกฤติการว่างงาน

อย่างไรก็ตามแม้ระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยฟรีแลนซ์จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่อะไรที่โตเร็วเกินไปมักไม่ยั่งยืน เกิดเป็นฟองสบู่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ตลาดบริการเรียกรถรับส่งที่มีปัญหาคนทำงานล้น จนหลายเมืองในจีนต้องออกเตือนประชาชนถึงความอิ่มตัวของอุตสาหกรรมนี้

เด็กจบใหม่ทำงานครอบจักรวาล รายได้ต่ำกว่าวุฒิ แม้อาชีพฟรีแลนซ์จะสามารถรองรับนักศึกษาจบใหม่ ให้มีเงินเลี้ยงตัวเองไปพลางๆ ระหว่างการหางานทำที่มั่นคง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กจบใหม่ที่มีการศึกษาสูงเหล่านี้ กำลังเสียเวลาไปกับการทำงานที่ด้อยกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังได้ค่าจ้างที่ต่ำ ไร้สวัสดิการรองรับ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก

Yao Lu นักสังคมวิทยาจาก Columbia University ประเมินว่า 25% ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยอายุ 23-35 ปี กำลังทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเกือบ 48 ล้านคนในจีน มีแนวโน้มที่จะได้รับฐานเงินเดือนต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ความสามารถในการเสียภาษีลดลง กระทบถึงการจัดเก็บรายได้ในอนาคตของรัฐบาล

ตำแหน่งงานที่มีไม่พอรองรับคนรุ่นใหม่ นอกจากจะกดดันให้พวกเขายอมทำงานด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงแล้ว ยังเปิดโอกาสให้บริษัททั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เอาเปรียบพนักงาน ด้วยการให้ทำงานล่วงเวลา หรือเกินขอบเขตหน้าที่ โดยไม่ได้รับการชดเชย ซ้ำร้ายบางบริษัทยังจ่ายค่าแรงไม่ตรงเวลาหรือหักโบนัส หากไม่ทำตามบริษัทก็พร้อมจะหาคนมาทำงานแทนทันที เด็กจบใหม่หลายคนจึงต้องยอมจำนนกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ Toxic เพราะไม่มีทางเลือกมากนัก ในสภาพเศรษฐกิจที่โหดร้ายยิ่งกว่าช่วงโควิด ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าการมีอาชีพเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองอีกต่อไป บางคนที่โชคดีหน่อยก็ยอมทำงานประจำควบคู่ไปกับรับงานฟรีแลนซ์

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่

https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส่องชะตากรรม “เด็กจบใหม่” ในจีน ทำงานรายได้ต่ำกว่าวุฒิ ในวันที่ประเทศอยากเป็นเบอร์ 1 เทคโนโลยีโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่

- Website : www.thairath.co.th

- LINE Official : Thairath

2024-09-08T03:12:31Z dg43tfdfdgfd