ผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น มอง UNGA79 และโอกาสของไทย
หมายเหตุ – นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก พูดถึงภาพรวมและความสำคัญของ UNGA ปีนี้ รวมถึงการสมัคร HRC ของไทยที่จะทราบผลในวันที่ 9 ตุลาคมนี้
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) ครั้งที่ 79 ในปีนี้ มีขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังเปิดประเทศจากโควิด-19 การเข้าสู่ปีที่ 3 ของการสู้รบในยูเครน และเป็นปีแรกหลังเกิดเหตุขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามในฉนวนกาซา ซึ่งทำให้บรรยากาศที่ไม่ดีอยู่แล้วสร้างความแตกแยกในยูเอ็นอย่างมาก และครอบงำบรรยากาศในการประชุมปีนี้
ขณะที่ในภาพใหญ่นั้น ยูเอ็นยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ต้องยอมรับว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นไปได้ช้ามาก ในเป้าหมายเอสดีจีส์เป้าหมายทั้งหมดเดินหน้าไปไม่ถึง 17% จึงเกิดกระบวนการข้อริเริ่มให้มีการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (Summit of the Future) เพื่อให้ผู้นำประเทศต่างๆ มาย้ำความตั้งใจที่จะเดินหน้าและเร่งกระบวนการเอสดีจีส์ให้เร็วขึ้น
การประชุมผู้นำที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จึงประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือการประชุมยูเอ็นจีเอ และการประชุมสุดยอดแห่งอนาคตที่เป็นโอกาสที่สมาชิกของยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศจะมาพูดคุยกันว่าจะออกแบบหรือมองปัญหาที่ผ่านมาเพื่ออุดช่องว่างและกำหนดทิศทางในอนาคตอย่างไร โดยในส่วนของการประชุมสุดยอดแห่งอนาคตจึงมีการออก “คำมั่นแห่งอนาคต” (Pact for the Future) ซึ่งเป็นความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาที่ยั่งยืนและการระดมทุนเพื่อการพัฒนา 2.สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 3.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และความร่วมมือด้านดิจิตัล 4.เยาวชนและอนุชนรุ่นหลัง และ 5.การเปลี่ยนแปลง ธรรมาภิบาลโลก ทั้งหมดนี้ถือเป็นพื้นฐานในการทำงานของยูเอ็นอยู่แล้ว แต่ยังมีเรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางเพื่อไม่ให้การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นภัยอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ได้มากล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมยูเอ็น เพื่อแสดงท่าทีเกี่ยวกับนโยบายหลักต่างๆ ต่อประชาคมโลกแทนนายกรัฐมนตรีที่ติดสถานการณ์อุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ได้มาติดตามประเด็นและหารือเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาในเมียนมาซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ รวมถึงการผลักดันความเชื่อมโยงที่เป็นเรื่องที่คณะผู้แทนไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และยังมีประเด็นที่เป็นหลักของเราในยูเอ็นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยจะใช้โอกาสนี้ในการตอกย้ำและต่อยอดต่อไป
ประการสุดท้ายคือใช้โอกาสนี้ในการจับมือให้อุ่น โดยเฉพาะเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ระดมเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น (เอชอาร์ซี) วาระปี 2568-2570 การเดินทางมาร่วมประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทยกำลังปิดการรณรงค์หาเสียง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ซึ่งงานที่จัดขึ้นก็เป็นไปด้วยดี
0 ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เรายังคงฝากความหวังกับเวทีพหุภาคีอย่างสหประชาชาติได้ใช่หรือไม่
เรามักจะลืมว่าไทยเป็นประเทศภูมิภาคและใช้การทูตพหุภาคีมาช้านาน ไทยเป็นสังคมที่มีการคบค้าสมาคมกับคนมากมาย เป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าการทูตพหุภาคีเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในไทย เรามีความศรัทธาและเชื่อมั่นในการทูตพหุภาคี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของยูเอ็นมาตั้งแต่แรกเริ่ม อีกเพียง 2 ปีไทยก็จะเป็นสมาชิกยูเอ็นครบ 80 ปีแล้ว
ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นว่าเราจะเชื่อมั่นในยูเอ็นได้หรือไม่ แต่ระบบของยูเอ็นนั้นต้องทันสมัย และตอบสนองกับโลกที่เปลี่ยนไป บนข้อจำกัดและโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ปี 1945 จึงเป็นที่มาที่ทำให้การประชุมในปีนี้มีการอภิปรายถึงการปฏิรูปการทำงานของยูเอ็น และปฏิรูปคณะมนตรีต่างๆ
โลกที่เป็นพหุสังคมแต่ไม่มีระบบพหุภาคีรองรับ ก็เหมือนกับยานพาหนะที่มีโครงแต่ไม่มีเครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่ทันสมัยรองรับ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์
0ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในโลกในเวลานี้ รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบกับทำงานของยูเอ็นหรือไม่
อันที่จริงแล้วความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมียูเอ็น และยูเอ็นก็ตั้งมาจากซากปรักหักพังของโลกที่ขัดแย้ง เพราะสังคมไม่สามารถขับเคลื่อนโดยปราศจากกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ต้องมีองค์กรที่เข้ามาจัดระเบียบ แต่ถ้าถามว่ามันกระทบกับบรรยากาศในการทำงานร่วมกันหรือไม่ ก็แน่นอน เพราะโลกแบ่งเป็นฝักฝ่ายมากขึ้น แต่จะกระทบถึงแก่นของการทูตพหุภาคีหรือไม่ก็คิดว่าไม่ เพราะยิ่งทะเลาะกันการทูตพหุภาคียิ่งจำเป็น ยูเอ็นยังมีจุดอ่อนอยู่มากที่ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ในหลายจุดทั่วโลก เหมือนการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้เราเห็นว่า ไม่มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัดกุมจึงทำให้เกิดโรคภัย วันนี้โลกเปราะบางมาก เรื่องเล็กน้อยสามารถปะทุและบานปลายกลายเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศได้
ดังนั้นเราต้องหันกลับมาดูว่ายูเอ็นจะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบภายในของตนเองได้อย่างไร
0 มองอย่างไรที่คนส่วนหนึ่งบอกว่าประเทศไทยไม่ควรได้เป็นสมาชิกเอชอาร์ซี เพราะเรามีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนแย่
การเข้าไปนั่งในเอชอาร์ซีไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นแชมเปี้ยนด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นถึงจะเข้าไปนั่งได้ เอชอาร์ซีเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ไม่ใช่เวทีที่ใครจะไปสั่งสอนใคร แต่เป็นเวทีที่เราต้องเข้าไปช่วยกันทำให้แน่ใจว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทุกเรื่องได้รับการดูแล และมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดี
ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโลกทุกวันนี้มีหลายประเด็นมาก คำว่าสิทธิของมนุษย์ก็กว้างมากอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าคำว่าสิทธิมาพร้อมกับหน้าที่ เราก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกภายนอกด้วย คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเอาค่านิยมและเอาสิ่งที่สังคมไทยทำได้ดีไปแบ่งปันกับโลกภายนอก ถ้าเราได้รับการยอมรับคนไทยที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศก็จะได้รับการยอมรับไปด้วย วันนี้ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 23 ของโลก เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกให้มากขึ้นและเป็นตัวอย่างให้โลกได้เห็นด้วย
เมื่อตอนที่ไทยนั่งเก้าอี้สมาชิกเอชอาร์ซีครั้งแรก นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ก็ยังได้นั่งเป็นประธานเอชอาร์ซีด้วย เราได้นำเสนอทางข้อมติในการส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราสามารถทำได้ตามกำลังของเรา และเราจะได้สานต่อในสิ่งที่ทำมาต่อไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น มอง UNGA79 และโอกาสของไทย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th
2024-10-01T07:58:45Z dg43tfdfdgfd