ผู้บริหาร COMITé COLBERT เยือนไทย ต่อยอดองค์ความรู้-เพิ่มมูลค่า ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทยสู่ระดับโลก

ผู้บริหาร Comité Colbert เยือนไทย

ต่อยอดองค์ความรู้-เพิ่มมูลค่า

ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทยสู่ระดับโลก

เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน มีการเยือนไทยที่น่าสนใจโดยคณะจากฝรั่งเศสที่นำโดยนาง Bénédicte Épinay ผู้อำนวยการใหญ่และ CEO ขององค์กร Comité Colbert และนาย Laurent Dhennequin ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร Comité Colbert ในฐานะแขกของ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมมือถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรดังกล่าวให้แก่ฝ่ายไทยในการดำเนินนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่การสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระดับชาติอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

Comité Colbert อาจจะไม่เป็นที่รับรู้ในไทยมากนัก แต่องค์กรแห่งนี้มีความสำคัญยิ่งกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ “ฝรั่งเศส” อย่างที่เราได้เห็นและรู้จักกันในปัจจุบันในหลากหลายแง่มุม Comité Colbert เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2501 จากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการฝรั่งเศส 15 ราย ขณะที่ในปัจจุบันมีสมาชิกขององค์กรแห่งนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 117 ราย ในหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่สาขาแฟชั่นชั้นสูง อาทิ ห้องเสื้อดิออร์ ผู้ผลิตน้ำหอม อาทิ Guerlain ผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ชั้นดี อาทิ ภาชนะกระเบื้องเคลือบ Bernadeau หรือเครื่องแก้ว Baccarat ธุรกิจบริการโดยเฉพาะโรงแรมห้าดาว อาทิ Plaza Athénée หรือร้านอาหารระดับห้าดาวอย่าง Alain Ducasse ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สำคัญของฝรั่งเศส ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ลุฟร์

การรวมตัวของ Comité Colbert มีที่มาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ถึงปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะมีผลต่อความอยู่รอดทางธุรกิจของสินค้าและบริการประเภทที่จัดอยู่ในข่ายสินค้าหรู หรือ luxury product ของฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชาวยุโรปเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจำนวนมาก ได้ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานฝีมือชั้นดีเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือโรงงานผลิตสินค้าเครื่องมือเครื่องใช้เกรด A ตลอดจนบุคลากรในธุรกิจบริการ ซึ่งมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับมาตรฐานและความสามารถในการให้บริการระดับดีเยี่ยม

ด้วยเหตุนี้ องค์กร Comité Colbert จึงมุ่งส่งเสริมการเพิ่มแรงงานฝีมือชั้นสูงเพื่อผลิตผลงานชั้นเยี่ยมและให้บริการที่ดีเลิศ ตลอดจนกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นสูงสุดในการผลิตสินค้าและบริการให้สมาชิกทั้งหมดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการผ่านปรนใดๆ ขณะที่สมาชิกขององค์กรต่างยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวม จนนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนของการที่สินค้าและบริการของฝรั่งเศสมักได้รับการยอมรับและเชื่อถือในระดับสากลว่ามีคุณภาพเยี่ยม ผ่านขั้นตอนการผลิตที่ปราณีตและสร้างสรรค์ ขณะที่ธุรกิจบริการสมบูรณ์และมีรายละเอียดในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรักษาพลวัตของความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาซึ่งผลิตแรงงานฝีมือขั้นสูง กลุ่มธุรกิจซึ่งสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตจากแรงงานฝีมือ และการรักษาคุณค่าของแบรนด์สินค้าฝรั่งเศสให้ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการกำหนดแนวทางการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบรับกับบริบทของสังคมแต่ละช่วงเวลา ดังเช่นในขณะนี้ที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับการผลิตและให้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลา 3 วันที่คณะของนาง Épinay เยือนไทย พวกเขาได้เข้าชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพบหารือกับผู้บริหารของบริษัทสยามพิวรรธน์ ซึ่งช่วยให้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันยาวนาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายและมีคุณค่าของไทย ควบคู่กับการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนตลอดจนพระราชกรณียกิจนานาประการเพื่อรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาช่างฝีมือไทยให้มีความสามารถในการผลิตผลงานชั้นเยี่ยมได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งส่งเสริมให้ผลผลิตจากมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

นาง Épinay รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ชัดเจน อีกทั้งเล็งเห็นถึงโอกาสที่ไทยสามารถจะยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยแรงงานฝีมือด้วยเทคนิคเฉพาะจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและสะท้อนความเป็นไทยอย่างชัดเจน สู่ความเป็น “สินค้าไทย” ซึ่งเป็นที่ต้องการในระดับโลก โดยนาง Épinay ชื่นชมการผลงานของห้องเสื้อ SIRIVANNAVARI ที่เป็นเอกลักษณ์ ประณีตและสะท้อนทักษะพิเศษของการตัดเย็บ และเห็นว่า พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เกี่ยวกับการพัฒนาชาวบ้านให้เป็นช่างฝีมือ ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงต่างๆ ถือเป็นแนวทางเดียวกันกับการพัฒนาแรงงานชั้นสูงขององค์กร Comité Colbert เพื่อสร้างผลผลิตชั้นเยี่ยมป้อนอุตสาหกรรมแฟชั่นและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะที่โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ยังมีส่วนพัฒนามาตรฐานการผลิตผ้าไทย

ด้านบริษัทสยามพิวรรธน์ มีบทบาทสำคัญในการนำกระบวนการทางธุรกิจเข้ามาต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับผลผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือกว่า 800 วิสาหกิจ จัดแสดงสินค้าในโซน ICON Craft ควบคู่กับการเป็นศูนย์บ่มเพาะช่างฝีมือและให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ

ขณะเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯเศรษฐา นาง Épinay ได้ชื่นชมศักยภาพของไทยและรู้สึกประทับใจกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ของไทยด้วย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าหากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในการสร้างแบรนด์และการตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับจะมีมูลค่าสูงในตลาดต่างประเทศและทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการศึกษาถือเป็นพื้นฐาน และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ บ่มเพาะดีไซน์เนอร์ รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และพร้อมร่วมมือกับไทยพัฒนาระบ ecosystem วางรากฐานในการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างยั่งยืน ขณะที่นายกฯเศรษฐาหวังว่าไทยจะได้เรียนรู้ know-how จากความสำเร็จของฝรั่งเศส สร้างการยอมรับอย่างสูงไปทั่วโลก และเชื่อมั่นว่า Comité Colbert สามารถช่วยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับไทยได้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาหัตถศิลป์ของไทย

นาง Épinay ยังเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันซึ่ง นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพในนามของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทยว่า ไทยมีความพร้อมและก้าวหน้าในการเปิดรับ พัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยหรือ Thainess ที่ชัดเจนและสวยงาม โดยควรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา บ่มเพาะและสร้างคุณค่าของงานช่างฝีมือเพื่อมิให้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมของไทยส่วนนี้หยุดชะงักจากการขาดแคลนบุคลากร โดยอาจพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ขณะที่ไทยมีความได้เปรียบจากรูปแบบสินค้าและบริการที่หลากหลายซึ่งมีศักยภาพจะพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ อาหารไทยแบบ fine dining หรือปัจจัยทางสังคมที่เปิดกว้างทางความคิดและส่งเสริมการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ซึ่งนับเป็นหัวใจของสินค้ากลุ่มแฟชั่นและ luxury product

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญในการทำให้สินค้าไทยเข้าถึงและได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืนและสร้างรายได้ให้ประเทศ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การนำหลักการบริหารธุรกิจมาส่งเสริมการขาย อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าที่สะท้อน Thainess และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ การรักษาและยกระดับมาตรฐานการผลิตและให้บริการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการผ่อนปรน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

การเยือนไทยของนาง Épinay ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือไทย – ฝรั่งเศสด้านการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ อีกทั้งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และขยายโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจของไทยในฐานะที่มีแรงงานฝีมือชั้นดี และความพร้อมในการร่วมมือทางธุรกิจด้าน luxury products and services จากองค์กรและหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในสาขาธุรกิจดังกล่าวโดยตรง

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ผู้บริหาร Comité Colbert เยือนไทย ต่อยอดองค์ความรู้-เพิ่มมูลค่า ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทยสู่ระดับโลก

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-04-29T23:16:42Z dg43tfdfdgfd